เพียงแค่เริ่มต้นปี 2564 ก็มีประเด็นร้อนแรงที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ที่ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การส่งส่วยเพื่อลักลอบพาคนเข้าเมือง และการเปิดบ่อนพนันผิดกฎหมาย เพจดังอย่างแหม่มโพธิ์ดำยังได้ออกมาเผยเรื่องราวพร้อมตั้งข้อสังเกตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สิ้นสุดจากข่าวที่ได้รับมาว่า เจ้าหน้าที่รัฐในแม่สอดรับสินบนอำนวยความสะดวกพาคนข้ามฝั่งไทย-เมียนมา ส่งผลให้โรงพยาบาลแม่สอดต้องรับศึกหนักในครั้งนี้
ต่อด้วยประเด็นร้อนแรงจากกระแสของคุณพิมรี่พายขึ้นดอยไปทำกิจกรรมพร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่สามารถใช้งานได้ด้วยจำนวนเงินหลักแสนบาทให้กับหมู่บ้านหนึ่งในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาชาวเน็ตได้มีการขุดข้อมูลและแชร์เอกสารกันในโลกออนไลน์ถึงโครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ที่เคยติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่อำเภออมก๋อยเช่นกัน ด้วยงบประมาณ 45,205,109.91 บาท พร้อมตั้งข้อสังเกตว่างบดังกล่าวมีราคาสูงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าในการใช้งานจริง
งานนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)ได้ออกมาเผยผ่านเพจเฟซบุ๊คถึงข้อมูลของโครงการดังกล่าวที่ได้ค้นเจอจากเครื่องมือ ACT Ai หรือที่ actai.co ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เช่น บัญชีรายละเอียดแผนจัดหา แบบแสดงรายการปริมาณงานและราคา แบบสรุปค่าก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนตรวจสอบจากข้อมูลจริงกันได้ว่างบที่ใช้ไปนั้นถูกใช้ไปกับอะไรบ้างและมีราคาแพงเกินจริงตามที่ได้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่
รวมถึงเพจเฟซบุ๊คต่างๆ ยังได้ออกมาตั้งข้อสังเกตกันอย่างต่อเนื่องถึงประเด็นพลเมืองดีที่ได้แชร์เรื่องราวโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์พร้อมระบุว่าเป็นโครงการที่กอ.รมน.ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์เมื่อปี 2561 ไว้ 20 จุด คือในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 10 จุด และ จังหวัดตาก 8 จุด ด้วยวงเงิน 45,590,000 บาท ซึ่งผ่านมากว่า 2 ปี แต่ตรวจสอบพบว่าไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงเพจต้องแฉ เพจเฟซบุ๊คที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แฉและแชร์เรื่องราวที่พบความไม่โปร่งใสในสังคม ได้ร่วมตั้งประเด็นให้คนในแต่ละพื้นที่ช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแสว่ามีโครงการคล้ายๆ กันนี้ที่ไหนอีกบ้างเพื่อร่วมกันตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐว่าเกิดผลสำเร็จและมีความโปร่งใสหรือไม่อย่างไร
จากตัวอย่างประเด็นร้อนแรงข้างต้นเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและต่างรับรู้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซ้ำยังเป็นตัวการร้ายที่สร้างผลกระทบรุนแรงและส่งผลต่อทุกภาคส่วนในสังคม ที่น่าสนใจคือเรื่องราวที่ถูกขุดคุ้ย และถูกตรวจสอบจากประชาชนทั่วไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมออกไปสู่วงกว้างผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจจนนำไปสู่การตรวจสอบในที่สุด กลไกการตรวจสอบเหตุสงสัยการทุจริตคอร์รัปชันในยุคนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงของสื่อมวลชนหรือองค์กรที่ทำงานต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเพียงเท่านั้น ผู้เขียนจึงมองว่าทุกคนต่างเป็น Corruption hunters หรือนักล่าคอร์รัปชันยุคใหม่ ที่มีอาวุธคือข้อมูลและสื่อออนไลน์ในมือของพวกเราทุกคน
ในมุมมองทางวิชาการก็มีข้อมูลที่กล่าวถึงการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านสื่อออนไลน์ของประชาชนเอาไว้เช่นกันในบทความนี้ผู้เขียนยกข้อมูลที่เคยได้ศึกษาจาก TheEducation for Justice (E4J) เรื่อง Citizen Participationin Anti-Corruption (การมีส่วนร่วมของพลเมืองในการต่อต้านการทุจริต) ที่จัดทำโดยองค์กร United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ซึ่งกล่าวถึงสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและมีหลายแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถให้ข้อมูลและใช้ต่อสู้กับการคอร์รัปชันผ่านการให้ข้อมูลในรูปแบบของการสนับสนุนผ่านการสืบสวน (Investigations) การระดมความเห็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบของปัญหาประเด็นใดประเด็นหนึ่ง (Crowdsourcing) ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวและนำไปสู่การตรวจสอบจากภาครัฐหรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด ทั้งนี้ แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะมีผลเชิงบวกกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างมากคือความถูกต้องของข้อมูล เพราะอาจมีความเสี่ยงที่นำไปสู่การบิดเบือนและแพร่กระจายผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไม่ถูกต้องได้ ดังนั้น การแบ่งปันข้อมูลที่ได้พบเห็นจึงอาจต้องทบทวนว่าสิ่งที่โพสต์ถูกต้องหรือไม่ แหล่งข้อมูลได้รับมานั้นผ่านการตรวจสอบแล้วหรือยัง และจะมีใครได้รับผลกระทบจากการแชร์ข้อมูลนี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งการโพสต์ข้อมูลต่างๆ ผ่านมาตรฐานการทบทวนที่ได้กล่าวมานี้จะช่วยให้สังคมเข้าใจสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงได้ดีขึ้น และมาตรฐานนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับผู้ที่โพสต์ทางออนไลน์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงผู้ที่สร้างเนื้อหาด้วยวิธีอื่นๆอีกด้วย
ผู้เขียนจึงเล็งเห็นว่าประชาชนผู้เป็นนักล่าคอร์รัปชัน (Corruption hunters) ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆในการแฉและแชร์เรื่องราวทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดผลสำเร็จในการขับเคลื่อนได้ อาวุธไม้ตายในการล่าคือการเผยเรื่องราวเหล่านั้นออกมาอย่างมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือการตั้งข้อสังเกตอย่างมีเหตุมีผล เพื่อให้สังคมร่วมระดมข้อมูล ร่วมกันจับตามองและแชร์เรื่องราวไม่ให้เงียบหายจนนำไปสู่การตรวจสอบหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยอาจจะเผยเรื่องราวด้วยตนเองหรือส่งเบาะแสให้กับสื่อกลางในโลกออนไลน์ เช่น เพจต้องแฉ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านหรือช่องทางอื่นๆ ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงและผลักดันให้ประเด็นเหล่านั้นถูกสื่อสารไปในวงกว้าง อีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนทั่วไปที่อาจไม่มีความถนัดในการค้นหาข้อมูลจากหลายๆแหล่งหรือรู้สึกว่าการค้นหาข้อมูลนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน
เครื่องมือ ACT Ai (เว็บไซต์ actai.co) เป็นตัวอย่างเครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน ที่เปิดให้ทุกคนสามารถตรวจสอบผ่านข้อมูลได้อย่างครบ จบในที่เดียว ซึ่งหากมีเหตุสงสัยเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของรัฐรวมถึงข้อมูลงบ4 แสนล้านบาท ที่รัฐได้กู้มาใช้เพื่อเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 อีกด้วย ดังนั้นการล่าคอร์รัปชันในยุคใหม่คือ การล่าด้วยความจริง ล่าด้วยฐานของข้อมูล ล่าด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นประโยชน์และถูกต้อง เพราะพลังที่สำคัญที่สุดในการป้องกัน เปิดโปงและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้คือการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ช่วยกันการสอดส่องและชี้เบาะแสให้เรื่องเหล่านั้นได้ถูกพูดถึง และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างถูกต้อง เพื่อให้เรื่องราวการทุจริตคอร์รัปชันไม่ถูกซุกซ่อนอยู่ใต้พรมอีกต่อไป ดังเช่นกรณีตัวอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวเมื่อต้นบทความถึงการทุจริตคอร์รัปชันต้นตอหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้และโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ถูกนำมาขุดคุ้ยเป็นประเด็นร้อนแรงทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและหันมาสำรวจในพื้นที่ของตนว่ามีความไม่ชอบมาพากลคล้ายกันหรือไม่จนนำไปสู่การตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและไม่ถูกทำให้เงียบหายอีกต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี