สิ่งเดียวที่ผ่านไปแล้วของปี 2564 คือเดือนมกราคม แต่สิ่งที่ยังคงไม่ผ่านไปคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนกรุงเทพฯ คือ ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาแล้วกว่า 4 ปี ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ที่ก็มาจากการแต่งตั้งเช่นเดียวกัน และอยู่ในตำแหน่งมาแล้วกว่า 6 ปี แม้ว่าผลงานของผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารในชุดปัจจุบัน จะได้รับทั้งคำชมและคำติ แต่ก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าถึงเวลาแล้วสำหรับการให้คนกรุงเทพฯ ได้เลือกอนาคตของมหานครแห่งนี้ด้วยตัวเองเสียที หลังจากที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก. มากว่า 8 ปี
หลังจากที่อีก 76 จังหวัดได้เลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.กันไปแล้วในช่วงปลายปี 2563 ข่าวดีที่พอให้ได้ลุ้นในปีนี้ ก็คืออาจจะมีการเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก. เกิดขึ้น หลังจากที่เริ่มมีแคนดิเดตหลายคนทยอยกันออกมาเปิดตัว ทั้งในแบบสังกัดพรรคและแบบอิสระ แต่ที่น่าลุ้นกว่านั้นคือพวกเขาเหล่านั้นจะมีวิสัยทัศน์และนโยบายอย่างไร ที่จะบริหารมหานครแห่งนี้ให้มีประสิทธิภาพไปในทิศทางที่คนกรุงเทพมหานครอยากเห็น และที่สำคัญต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารงานด้วย เพราะหนึ่งในหลายปัญหาที่เป็นภาพจำของคนกรุงเทพฯ มาตลอด ก็คือปัญหาการทุจริต ทั้งที่เกิดขึ้นในระดับบริหารและที่เกิดขึ้นในระดับปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่มีความใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ อยู่มาก
เพราะหากพูดถึงเฉพาะแค่ในช่วงเวลาที่ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันบริหารงานอยู่นั้น สิ่งที่หนีไม่พ้นก็คือข่าวที่รองผู้ว่าฯ ลาออกถึง 2 คนในช่วงเวลาแค่ 2 วัน แม้ว่าต่อมาผู้ว่าฯ จะออกมาปฏิเสธข่าว ว่าการลาออกไม่เกี่ยวกับโครงการเตาเผาขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช รวม 2 โรงมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท ที่รองผู้ว่าฯ ทั้ง 2 คนไม่ยอมเซ็นอนุมัติผลการประกวดราคา ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกร้องเรียนและอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ว่าส่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย และเป็น 2 โครงการเดียวกันกับที่กระทรวงการคลังคัดเลือกให้ใช้ข้อตกลงคุณธรรม โดยให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชนเข้าไปร่วมติดตามการดำเนินโครงการ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซ้ำร้ายยังจะถอนโครงการออกจากข้อตกลงคุณธรรมอีกด้วย (รับชมได้ที่ https://youtu.be/FB6hxSdFbU4)
อีกประเด็นที่ขยับเข้ามาใกล้ตัวคนกรุงเทพฯอีกสักหน่อยก็คงจะหนีไม่พ้น การเรียกรับสินบนใบอนุญาตก่อสร้าง ที่ยืนยันด้วยงานศึกษา จาก ป.ป.ท. เองว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กทม. ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง (อ่านงานศึกษาได้ที่ http://bit.ly/2Xrfov8) โดยที่อัตราการเรียกรับก็แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับมูลค่าการก่อสร้าง
ไปจนถึง “ค่าเก็บขยะ” ตามบ้าน ที่มีสองราคาให้คนกรุงเทพฯ เลือก ระหว่าง “ราคาที่ออกใบเสร็จ” กับ “ราคาที่ไม่ออกใบเสร็จ” ที่เมื่อมีการสอบถามสาเหตุกลับได้คำตอบว่า เป็นการเข้าใจผิดกัน ว่าที่ตอนแรกไม่ออกใบเสร็จให้เพราะใบเสร็จหมด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าหากไม่มีการสอบถามกลับไปที่หน่วยงาน เจ้าหน้าที่จะนำใบเสร็จ “ค่าเก็บขยะ” ราคาที่ถูกต้องมาให้รึเปล่า (facebook.com/mustshareofficial/posts/470293406929409)
แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ปี 2563 อยู่ในระดับ A โดยได้คะแนนถึง 91.48 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ และได้คะแนนเต็ม 100 คะแนนในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลและการป้องกันการทุจริต ส่วนหนึ่งคงเพราะมีช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกผ่านเว็บไซต์ เช่น ระบบเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ข้อมูลแผนปฏิบัติราชการและงบประมาณ แต่ในความเป็นจริงชาวกรุงเทพฯ กลับแทบจะไม่รู้เลยว่าตัวแทนของพวกเขาที่ไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ชุดปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้ง “เป็นใครกันบ้าง” ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นได้ร่วมกันทำหน้าที่ผ่านร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559-2564 รวมแล้วกว่า 462,000 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 77,000 ล้านบาท) แม้ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ แต่งบประมาณที่เหลือจะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครอย่างไร ตรงกับความต้องการของคนกรุงเทพฯ หรือไม่ และใช้ไปอย่างโปร่งใสมากน้อยเพียงใด
ขอถือโอกาสนี้ฝากไปถึง ท่าน “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.” คนใหม่ ว่าในระดับนโยบายและการกำกับดูแล ก็ควรจะเพิ่มความจริงจังและเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งในกระบวนการงบประมาณให้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นอย่างจริงจัง (Participatory Budgeting) หรือการสร้างภาครัฐแบบเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายก็คงได้แต่หวังว่าจะเห็นสนามการเลือกตั้งของ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ “ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้” เป็นมากกว่าสนามแข่งขันของบรรดานักการเมืองที่มุ่งหวังจะช่วงชิงพื้นที่ แต่อยากให้เป็นสนามของการประชันนโยบายที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะให้ความสำคัญกับการต่อต้านและป้องกันการคอร์รัปชัน ควบคู่ไปกับการบริหารเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้ “ชีวิตดีดีได้อย่างลงตัว” แบบที่ราคารถไฟฟ้าไม่แพงไปกว่านี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี