ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเลื่อนนิ้วอัพเดตเรื่องราวใหม่ๆ ทางเฟซบุ๊คได้บังเอิญสะดุดตาเข้ากับโพสต์แนะนำนิทานจากเพจ The MATTERเรื่อง “เดินไปดวงดาว” แต่งโดย รับขวัญ ธรรมบุษดี หน้าปกนิทานเป็นรูปเด็กผู้หญิงเดินอยู่บนถนนสีฝุ่นขมุกขมัวแต่บนท้องฟ้ากลับเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่สวยงาม เด็กคนนั้นสะพายเป้ใบใหญ่และสวมรองเท้าเหล็กสีเทาที่มีพื้นหนาขนาดใหญ่เทอะทะดูแล้วไม่น่าเดินสบายเท่าไหร่ พร้อมคำโปรยว่า “เป้แบกฝัน รองเท้าพื้นหนา เค้าบอกฉันว่า จงตั้งใจเดิน” และคำนิยมว่า “แด่ทุกคนที่อยากเห็นสังคมเท่าเทียม” เห็นอย่างนี้ไม่รอช้า เข้าไปดาวน์โหลดนิทานมาอ่านทันที
นิทานเรื่องนี้ แต่งขึ้นจากงานวิจัยเรื่อง “เดินไปดวงดาว : ทุนนิยมไทยในกระแสเสรีนิยมใหม่กับความฝันที่ไม่มีวันไปถึง” โดย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าภายใต้สังคมแบบทุนนิยมไทยในกระแสเสรีนิยมใหม่ กลุ่มชนชั้นกลางในสังคมไทยได้ถูกสลายรวมกับกลุ่มแรงงานเสี่ยงกลายเป็นกลุ่มที่เผชิญกับความเปราะบางในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิต และไร้ซึ่งอำนาจต่อรองจนไม่สามารถก้าวข้ามผ่านความเปราะบางภายใต้ระบบโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ได้ นิทานเรื่องนี้ จึงหยิบเอาชีวิตของกลุ่มแรงงานเสี่ยงมาสร้างเป็นตัวละครที่อาศัยอยู่บนเมืองสีฝุ่น เพื่อให้เราเห็นภาพว่าสังคมที่ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้พวกเขาขาดโอกาสอย่างไรบ้าง
“เดินไปดวงดาว” เล่าเรื่องราวผ่านเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับ “เป้แบกฝัน” กับ “รองเท้าพื้นหนา” จากครอบครัวในวันแรกของการไปโรงเรียน พร้อมคำพูดของแม่ที่ว่าต่อจากนี้ของทั้งสองอย่างจะติดตัวลูกไปตลอดและเมื่อโตขึ้นขนาดของเป้และรองเท้าก็จะใหญ่และหนักอึ้งตามไปด้วย เด็กน้อยไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงต้องแบกเป้ใบโตและสวมรองเท้าเหล็กที่ใหญ่เทอะทะ เธอคิดแค่ว่าพรุ่งนี้จะได้ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ เล่นกับเพื่อนๆ แต่เมื่อมาถึงโรงเรียนครูกลับสั่งให้ยัดกระดาษจำนวนมากใส่เป้ จากเป้ที่ว่างเปล่าเริ่มเต็มไปด้วยกระดาษทำให้เธอเดินช้าลงเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งครูได้พาเด็กๆ ไปเที่ยวหมู่บ้านคนขี้เกียจ ในหมู่บ้านนั้นมีเด็กอายุเท่าเธอแต่ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ครูบอกว่าเด็กพวกนั้นขี้เกียจเดินเลยไม่ได้ไปดวงดาว เธอได้แต่ตั้งคำถามในใจว่าเด็กในหมู่บ้านจะมีแรงเดินได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่มีข้าวกินด้วยซ้ำ แถมเป้และรองเท้าก็หนักกว่าเธอหลายเท่าระหว่างที่เธอกำลังกลับบ้าน ได้พบกับเด็กที่มาจากดวงดาว เด็กคนนั้นไม่มีทั้งเป้และรองเท้าพื้นหนาแถมไม่ต้องแบกฝันเพราะลงมือทำได้เลย เธอจึงตั้งใจว่าจะเดินให้เต็มที่เพื่อที่จะได้ไปถึงดวงดาวไวๆ ได้ถอดรองเท้าและเอาเป้ออกจากหลังสักที
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอรู้แน่ชัดว่าของสองสิ่งไม่ได้มีไว้เพื่อไปดวงดาว เพราะเธอแอบเปิดเป้ของแม่และพบว่ามันเต็มไปด้วยกระดาษปึกใหญ่สีแดงล้นทะลักออกมา เธอคาดหวังว่าคนที่เดินมานานอย่างแม่น่าจะได้ไปดวงดาวสักที แต่ทำไมในเป้แบกฝันของแม่ถึงมีแต่ตัวเลขติดลบ ความฝันของแม่ไปอยู่ไหนหมด ทำไมเด็กๆ ในหมู่บ้านขี้เกียจถึงแบกเป้หนักกว่าเธอ ทำไมคุณตาภารโรงถึงยังไปไม่ถึงดวงดาวสักทีทั้งที่แก่แล้ว และทำไมเด็กบางกลุ่มถึงเกิดมาแล้วได้นั่งยานอวกาศเลย ทั้งที่พวกเราต่างก็พยายามอย่างเต็มที่แล้วแต่ดูเหมือนหนทางไปสู่ดวงดาวมันช่างไกลเหลือเกิน คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดเพราะในนิทานไม่ได้บอกว่าทำไมเป้และรองเท้าถึงได้หนักขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้บอกว่ากระดาษสีแดงที่อยู่ในเป้ของแม่คืออะไรผู้แต่งคงอยากจะให้ “เป้แบกฝัน” และ “รองเท้าพื้นหนา” เป็นเหมือนคำถามปลายเปิดให้พวกเราลองคิดดูว่า ทำไมของสองสิ่งนี้ถึงทำให้การเดินทางไปถึงดวงดาวของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน
ในมุมมองของผู้เขียนที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน มองว่า “เป้แบกฝัน” และ “รองเท้าพื้นหนา” คือ สัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียมในเมืองคู่ขนานแห่งนี้ และเป็นตัวการที่ขโมยความฝันของเด็กๆ แม้ในนิทานจะไม่ได้ระบุว่าตัวร้ายในเรื่องเป็นใคร แต่จากคำพูดของคุณตาภารโรงที่บ่นว่า “เมืองสกปรกนี่ ถูจนตายฝุ่นก็ไม่มีวันหมด” ก็อาจคาดเดาได้ว่าเมืองนี้น่าจะมีหมอกควันของปัญหาคอร์รัปชันปกคลุมอยู่ เพราะคอร์รัปชันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม และคนที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการคอร์รัปชันมากที่สุด คือ คนที่มีฐานะยากจน ในขณะที่ผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันกลับถูกส่งต่อผ่านระบบอุปถัมภ์ หรือ เส้นสายในแวดวงระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับตัวละครในนิทาน เราจึงเห็นว่าคนในเมืองสีฝุ่นเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชัน ส่วนคนบนดวงดาวเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชัน
สิ่งที่เด็กๆ ในเมืองสีฝุ่นต้องเจอ เรียกว่า การคอร์รัปชันในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการศึกษาและสร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกันของเด็กๆ เพราะการคอร์รัปชันในภาคการศึกษาเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ตั้งแต่การทุจริตในระดับนโยบายผ่านการจัดสรรงบประมาณการศึกษา ในระดับส่วนกลางเกี่ยวข้องกับงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้าง รวมถึงกองทุนของโรงเรียน ในระดับโรงเรียนเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณภายในโรงเรียนและการเรียกรับสินบน เมื่อผลจากการคอร์รัปชันเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางทำให้โรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันต่างได้รับผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าเด็กทุกคนจะได้รับการการันตีจากภาครัฐในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่หากมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นย่อมส่งผลเสียต่อคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากในโรงเรียนขนาดเล็กตามถิ่นทุรกันดาร
“กระดาษสีแดงในเป้ของแม่” จึงอาจหมายความถึงราคาที่หลายครอบครัวต้องจ่ายให้กับระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชัน โดย Bettina Meier (2004) ได้ศึกษารูปแบบและผลกระทบของคอร์รัปชันที่แพร่หลายในวงการศึกษาไว้ ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างการทุจริตที่พบได้บ่อยในบ้านเรา ได้แก่ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ผู้ปกครองต้องซื้อตำราและอุปกรณ์การเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือราคาสูงเกินท้องตลาด การทุจริตในกระบวนการรับเข้าเรียน ด้วยการเรียกรับสินบนก่อนทำการสอบแข่งขัน หรือการเสนอจ่ายของผู้ปกครองเพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนและได้รับการดูแลที่ดี การทุจริตในการจัดหาคุณครู หรือการใช้ชื่อครูปลอม (ครูผี) เพื่อเรียกเงินเดือนจากรัฐ รวมถึงการให้สินบนเพื่อการบรรจุและโยกย้ายตำแหน่ง ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ รวมถึงการเรียกรับสินบนจากผู้ปกครอง แลกกับแนวข้อสอบ ผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคนแม้ไม่ได้มีส่วนในการคอร์รัปชันก็ตาม
ในตอนจบของนิทาน ไม่ได้บอกว่าเด็กผู้หญิงคนนี้มีวิธีอะไรในการเดินไปดวงดาว เพียงแต่บอกว่าถ้าเรารู้ความลับที่จะไปถึงดวงดาวก็ให้บอกต่อให้เพื่อนๆ ได้รู้ด้วย ผู้เขียนจึงอยากบอกความลับที่จะทำให้เด็กๆ ได้สลัดรองเท้าพื้นหนาทิ้งไปและเป้ของแม่ไม่ต้องเต็มไปด้วยกระดาษสีแดง แต่วิธีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในการเป็นหูเป็นตาตรวจสอบการทำงานของโรงเรียน เพราะหากเรามีระบบการตรวจสอบที่ดี ความเสี่ยงในการคอร์รัปชันก็น้อยลงไปด้วย หลายประเทศจึงเปิดโอกาสให้มีกระบวนการตรวจสอบอย่างมีส่วนร่วมของนักเรียนเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียน รวมถึงกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับการเรียกรับหรือเสนอให้สินบนและการทุจริตภายในโรงเรียน ซึ่งกลไกเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมผ่านการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดการร่วมตรวจสอบของนักเรียนที่เป็นผู้ที่ต้องแบกรับผลของการทุจริต โดยมีตัวอย่างเครื่องมือที่น่าสนใจ เช่น แพลตฟอร์ม Development Check ที่ให้ประชาชนร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามสัญญาด้วยการถ่ายรูปความคืบหน้าโครงการและแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เครือข่าย Integrity Club ที่สนับสนุนให้นักเรียนทำหน้าที่สำรวจคุณภาพการให้บริการของโรงเรียนด้วยการปักหมุดรายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นโดยไม่ต้องร้องเรียนผ่านช่องทางของหน่วยงานรัฐ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่รวดเร็ว
สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นพลังในการร่วมกันแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในโรงเรียนผ่านเพจต้องแฉ ซึ่งเป็นสื่อกลางในการนำเสนอประเด็นการทุจริตในโรงเรียนหลายเรื่อง เช่น โครงการอาหารกลางวัน การเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ทำให้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊คเข้าไปให้ข้อมูลจำนวนมากและนำไปสู่การตรวจสอบโดยภาครัฐในที่สุด และการเคลื่อนไหวในกลุ่มนักเรียนผ่านทวิตเตอร์ โดยใช้แฮชแท็กรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจนนำมาสู่ โครงการ We The Students ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการเปิดเผยข้อมูลโรงเรียน(School data) เป็นช่องทางรายงานและประเมินคุณภาพการให้บริการของโรงเรียน (School Checklist) และช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างครูและนักเรียนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง (School Sharing) โดยโครงการกำลังเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม We The Students: Discovery Workshop จัดโดย Glow Story และ HAND Social Enterprise สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เพจเฟซบุ๊ค We The Students Thailand
ผู้เขียนเชื่อว่า เครื่องมือที่ยกตัวอย่างมานี้จะช่วยให้ความฝันของเด็กผู้หญิงในนิทานที่อยากให้เด็กทุกคนได้ถอดรองเท้าหนาๆ และเอาเป้ออกจากหลังให้หมดกลายเป็นจริงได้ ซึ่งทุกคนสามารถร่วมกันสานฝันให้เด็กๆ ได้ด้วยการใช้พลังของเครื่องมือเหล่านี้ในการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม ไม่ให้มีเด็กคนไหนที่ต้องเติบโตมาอย่างไร้ความหวังอย่างเด็กๆ ในเมืองสีฝุ่นอีกต่อไป
สุภัจจา อังค์สุวรรณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี