ช่วงเดือนที่ผ่านมาผู้อ่านคงจะเห็นกระแสการเคลื่อนไหวบนสังคมโซเชียลมีเดียที่มีการติดแฮชแท็ก #Saveบางกลอย #ชาติพันธุ์ก็คือคน ปรากฏการณ์ที่ผู้คนต่างหันมาสนใจปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย เนื่องจากมีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนเข้าปฏิบัติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน และมีการเคลื่อนย้ายชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ออกจากป่า หลายคนจับตามองเรื่องนี้เพราะหวั่นเกรงว่าการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้จะเกิดความรุนแรงขึ้นเหมือนเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน บทความนี้จึงนำข้อมูลมาสรุปว่า ก่อนหน้านี้ในพื้นที่บางกลอยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมผู้คนให้ความสนใจกลุ่มชาติพันธุ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์
จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องพบว่า พื้นที่ป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เดิมมีชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดินตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ชาวกะเหรี่ยงดำรงชีพโดยการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน มีการปลูกข้าวไร่ พริก และพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ เพื่อใช้เป็นอาหารในการดำรงชีพ เมื่อครั้งที่ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานขึ้นเป็นครั้งแรก มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นในปี 2524 เพื่อดูแลรักษาผืนป่าจึงทำให้สถานะของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมกลายเป็นผู้บุกรุกป่า
ช่วงเมื่อปี 2539 มีความพยายามของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเข้าเจรจากับชาวกะเหรี่ยงให้ย้ายที่อยู่อาศัยโดยมีข้อเสนอว่าจะมีการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ทำให้ชาวกะเหรี่ยงยอมย้ายถิ่นฐานออกจากป่า แต่ภายหลังพบว่าการจัดสรรที่ดินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ บางครอบครัวได้รับเฉพาะที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีที่ดินทำกิน และที่ดินที่จัดสรรไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรมตามวิถีชีวิตเดิม ปัญหาการจัดสรรที่ดินดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานาน จนทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางครอบครัวย้ายกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นป่าอีกครั้ง
ความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายยังคงดำเนินการอยู่เรื่อยมาจนเมื่อปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานสนธิกำลังกับทหารชุดเฉพาะกิจเข้าปฏิบัติยุทธการตะนาวศรี เป็นการไล่รื้อถอนที่อยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยง มีการเผาทำลายที่อยู่อาศัยและยุ้งข้าวจนได้รับความเสียหายหลายครอบครัว ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ป่า ถึงแม้ว่าปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้วิจารณ์ว่า มีการใช้ความรุนแรงและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยนชน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มีการชี้แจงว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการทำเพื่อผลักดันและจับกุมชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าไม้ในพื้นที่
หลังจากเหตุการณ์นี้ชาวกะเหรี่ยงได้นำหลักฐานหลายชิ้นมายืนยันว่าตนไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยตามเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจง เช่น แผนที่ของกรมทหารบกที่มีการระบุที่ตั้งของหมู่บ้านใจแผ่นดิน เมื่อปี 2455 ภาพถ่ายชาวกะเหรี่ยงบริเวณที่อยู่อาศัย และการให้ปากคำของเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาที่ระบุว่า ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินมีตั้งถิ่นฐานอาศัยก่อนประกาศจัดตั้งอุทยาน
จากการปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี ปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องให้กรมอุทยานรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าได้ตามเดิม แต่ในขณะที่คดีกำลังดำเนินการอยู่ในชั้นศาล นายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พยานคนสำคัญในคดี และเขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงถูกอุ้มหายไปในปี 2557 ภายหลังมีการพบโครงกระดูกที่พิสูจน์ว่าเป็นของบิลลี่ถูกซุกอำพรางอยู่ในถังน้ำมันบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในสภาพที่ถูกเผา เหตุการณ์อุ้มหายบิลลี่เป็นการตอกย้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้น และยิ่งทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่ไว้วางใจรัฐในการแก้ไขปัญหาหรือการรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขา
จนในที่สุดเมื่อปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีการตัดสินให้กรมอุทยานฯต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับปู่คออี้และพวกที่ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาล แต่อย่างไรก็ดีศาลไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับเขาไปอยู่อาศัยในป่าได้ตามเดิม เมื่อพวกเขาไม่สามารถกลับเขาไปอยู่ในพื้นที่เดิมได้ และปัญหาเรื่องการจัดสรรที่ดินที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้บางครอบครัวต้องสละวิถีชีวิตเดิมเพื่อความอยู่รอดสมาชิกในครอบครัวต้องออกไปทำงานรับจ้างภายนอกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ในส่วนของผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินก็ไม่สามารถทำเกษตรกรรมตามวิถีเดิมได้ เพราะการเพาะปลูกต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น ดินที่เหมาะสมสำหรับเพาะปลูก แหล่งน้ำ และปุ๋ย ซึ่งมีต้นทุนในการเกษตรกรรมพอสมควร
ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยหลายคนที่ออกไปรับจ้างตกงาน การตัดสินใจกลับเข้าป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายครอบครัวตัดสินใจภายหลังที่ชาวกะเหรี่ยงกลับเข้าไปทำไร่หมุนเวียน ปรากฏภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่ามีพื้นที่ต้นไม้ ป่าไม้ถูกทำลายไปหลายจุดราว 120 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณใกล้ต้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี จึงนำไปสู่การสนธิเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าปฏิบัติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร มีการเจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายกลับออกจากป่าเพื่อร่วมกันหารือแนวทางการแก้ไขปัญหานี้นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังชี้แจงความจำเป็นว่า พื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางเป็นบริเวณต้นน้ำอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในป่า และหากอนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอยู่ในพื้นที่ป่าได้แล้วป่าแห่งอื่นจะต้องทำได้เช่นเดียวกันหรือไม่
หากเราลองทบทวนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะทำงานหลายชุดแต่สุดท้ายปัญหาในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงไม่มีกลไกการทำงานที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างไร และหลายครั้งที่ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ออกมาเรียกร้องหรือยื่นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหากลับถูกเมินเฉยจากรัฐบาลยิ่งส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจเป็นปัญหาที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ
การเคลื่อนไหวของประชาชนในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทุกคนต่างหวังว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาในพื้นที่ให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มีหลายภาคส่วนเสนอให้รัฐบาลสร้างพื้นที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้ในการแก้ปัญหา และเสนอแนะให้รัฐบาลศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงชีพโดยการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สามารถนำมาใช้เป็นองค์ความรู้ ในการหารือเพื่อแก้ไขปัญหา และการรับฟังข้อเรียกร้องต่างๆ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนเห็นความตระหนักที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหานี้ยิ่งขึ้น ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่ากระแสการตื่นตัวของสังคมครั้งนี้จะส่งผลให้รัฐบาลเร่งหามาตรการที่เหมาะสมในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขา และพร้อมจะสนับสนุนการดำรงชีพตามวิถีชีวิตชาติพันธุ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
พัชรี ตรีพรม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี