หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำงานในวงการการต่อต้านคอร์รัปชันมาสักพัก จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับคนรู้จัก และได้สัมภาษณ์พนักงานใหม่หลายๆ คนโดยหนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนใช้สัมภาษณ์คือ“ถ้าให้คุณเริ่มแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คุณจะแก้เรื่องไหนก่อน” ส่วนใหญ่ เกือบจะ 99% ตอบว่าต้องเริ่มที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในแวดวงการศึกษา พวกเขาไม่ได้มองว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีปัญหาคอร์รัปชันอยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้นแต่กลับมองว่าปัญหาคอร์รัปชันที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานนี้น่าจะแก้ไม่ได้โดยคนรุ่นเราดังนั้นการฝากความหวังไว้กับเด็กรุ่นหลังให้“โตไปไม่โกง” จึงน่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด
แต่เราจะเริ่มปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเรื่องคอร์รัปชันให้พวกเขาได้อย่างไรบ้าง เพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจว่าคอร์รัปชันส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมที่พวกเขาอยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่แค่การไปสร้างหลักสูตรปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมแบบทั่วไป แต่สามารถเข้าถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมธรรมาภิบาลที่จะนำไปสู่การเป็นสังคมไร้คอร์รัปชันในที่สุด
ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงแก้ปัญหาคอร์รัปชันในโรงเรียน ผู้เขียนเคยเข้าใจว่ามันอาจจะหมายถึงเรื่องแป๊ะเจี๊ยะ เรื่องสินบน เรื่องการใช้งบประมาณอย่างไม่ถูกต้องในโรงเรียน ทำให้นักเรียนไม่ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับการพัฒนาการศึกษาของเขาอย่างเต็มที่ แต่หลังจากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสจัดกิจกรรม และลงไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียน ทำให้ทราบว่าปัญหาคอร์รัปชันในโรงเรียนนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเราคาดไม่ถึง และเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับเด็กนักเรียนโดยตรงอีกมากมาย แต่กลับไม่มีใครคิดว่ามันคือการคอร์รัปชัน หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือ “ระบบอุปถัมภ์ในโรงเรียน” ซึ่งระบบอุปถัมภ์ที่เด็กพูดถึง ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้เส้นสายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยขาดคุณสมบัติของครูหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือปัญหาเรื่องการแบ่งพรรคพวกในการทำงานภายในโรงเรียนเพียงเท่านั้น แต่มันคือระบบ “ลูกรัก”
เด็กๆ หลายคนที่ผู้เขียนได้ร่วมพูดคุยด้วยยกให้ปัญหาระบบ “ลูกรัก” ขึ้นมาเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ในโรงเรียน โดยผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากการไม่ได้เป็นลูกรัก คือการต้องเสียสิทธิ์หลายอย่างที่นักเรียนทุกคนควรได้รับ และเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมานั้นไม่ได้เกิดจากความอิจฉาแต่เป็นเพราะโอกาสในการเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นกลับถูกส่งต่อให้เฉพาะกลุ่มลูกรักของครูบางท่าน ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนบางคนมีความสามารถในการประกวดแข่งขันหรือมีคุณสมบัติเหมาะสมในการสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่กลับไม่ได้รับทราบข่าว หรือทราบช้าจนหมดโอกาสเข้าร่วม เพราะครูไม่บอก หรือบางครั้งหากได้รับโอกาสเข้าร่วมแข่งขันก็จะได้รับฟังคำพูดที่ไม่ดีจากครู เช่น “อย่างเธอจะทำได้เหรอ” หรือในบางกรณีเด็กตั้งใจเรียนตั้งใจร่วมกิจกรรมตอบคำถามในห้อง เพื่อให้ส่งผลดีกับคะแนนเก็บ แต่เมื่อผลคะแนนออกมากลุ่มลูกรักของครูที่ไม่เคยตอบคำถามอะไรเลย กลับมีคะแนนเท่ากันเมื่อเด็กท้วงถามครูก็ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ รวมทั้งไม่มีการแก้ไขในปัญหาที่เกิดขึ้น จนปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติต่างๆ ส่งผลกระทบกับอนาคตการศึกษา รวมถึงสภาพจิตใจของนักเรียนด้วย
ผลร้ายของระบบอุปถัมภ์ในคราบของครูกับลูกรัก ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียให้กับเด็กที่ไม่ได้เป็นลูกรักในการขาดการเข้าถึงโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการปฏิบัติจากครูและคนรอบข้างในลักษณะดังกล่าว จะส่งผลให้ในวันข้างหน้าที่กลุ่มนักเรียนลูกรักเติบโตขึ้น และเข้าสู่วัยเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือก้าวเข้าสู่การทำงาน พวกเขาอาจเข้าใจผิดว่าการเป็นที่รักใคร่ของผู้มีอำนาจเหนือกว่าเขา จะสามารถเป็นใบเบิกทางทำให้ ได้รับสิทธิพิเศษ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เร็วกว่าคนอื่น แล้วเขาก็จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้เป็นลูกรัก สุดท้ายแล้วจึงนำไปสู่ปัญหาในระดับที่ใหญ่กว่า ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ระบบอุปถัมภ์” และนำไปสู่การคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ ที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้เช่นในปัจจุบัน
การเอ็นดูนักเรียนจนกลายเป็นลูกรัก ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะเป็นปกติของมนุษย์ที่เราอาจจะมีความห่วงใย หรือสนิทสนมกับคนที่มีพฤติกรรมที่ถูกใจเรา มีความหวังดีอยากให้เขาประสบความสำเร็จ แต่ในฐานะที่ ครู มีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนให้ความรู้ ให้โอกาสทางการศึกษา ไม่ควรทำให้ระบบลูกรักส่งผลกระทบกับนักเรียนคนอื่นๆ เพราะเด็กทุกคน คือนักเรียนที่เราต้องดูแล สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกท่านลองนึกย้อนกลับไปในอดีตอีกครั้งว่า เราเคยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบอุปถัมภ์นี้ขึ้นมาหรือไม่ เราเคยเป็นลูกรักของครูคนไหนหรือเปล่า หรือคุณครูที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ กำลังสร้างลูกรักในทางที่ผิด จนนำไปสู่การสร้างระบบอุปถัมภ์ในอนาคตหรือไม่
นันท์วดี แดงอรุณ
HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี