“หากให้นึกถึงตัวเองในช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว ตัวของคุณกำลังทำอะไรกันอยู่ครับ ?”
หลายๆ คนคงกำลังนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์โดยมีฉากหลังเป็นห้องนอนหรือบ้านของตัวเอง นักเรียนและนักศึกษาต่างตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนที่ชื่อว่า “Zoom’s Meeting” หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวเราเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 37 และ 38 ของร่างกาย ทุกคนคงกำลังกังวลและตระหนกถึงเหตุการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และมักจะตั้งคำถามกับตัวเองหรือคนรอบข้างว่า “กูติดหรือยังวะ?”
กาลเวลาผ่านไปครบหนึ่งปี แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงเหมือนเดิม และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากสถิติจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564จนถึง 1 พฤษภาคม 2564 มีจำนวนมากถึง 37,963 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมมากถึง 130 คน โดยล่าสุดคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติให้ยกระดับมาตรการป้องกัน ซึ่งกรุงเทพมหานครถูกจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีการสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และขอความร่วมมือให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่งดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ถึงแม้มาตรการเหล่านี้จะถูกบังคับใช้เพื่อลดการแพร่ระบาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่หาเช้ากินค่ำและประชาชนกลุ่มเปราะบาง
สิ่งเหล่านั้นคือเหตุการณ์ที่ประเทศไทยกำลังพบเจอผู้เขียนจึงอยากชวนให้ทุกคนมองไปยังประเทศต่างๆ รอบข้างเพื่อดูเป็นตัวอย่างการรับมือและวิธีการจัดการเพื่อให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จนล่าสุดมีประกาศจะยกเว้นให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19ครบตามกำหนดไม่ต้องกักตัว ١4 วัน ตามคำสั่ง ประเทศอิสราเอล รัฐบาลออกคำสั่งยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และกำลังเปิดระบบการศึกษาตามปกติ หลังสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงตามเป้าหมาย และ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เมื่อปีที่แล้วถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ล่าสุดได้ออกมาประกาศชัยชนะ หลังสามารถฉีดวัคซีนโควิดป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนได้สูงถึง 229 ล้านโดส และมีการประกาศให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบกำหนดโดสแล้วไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยระหว่างการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย
จึงอยากชวนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยที่ก่อนหน้าเราก็เคยมีประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้จากการแพร่ระบาดทั้งระลอกแรก และระลอกสอง แต่เมื่อต้องพบเจอกับการแพร่ระบาดในระลอกล่าสุด การวางแผนรับมือและป้องกัน รวมทั้งการดูแลและรักษาผู้ป่วย ยังคงประสบปัญหาเหมือนเดิม ผู้เขียนได้ลองวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการโรคโควิด-19 ของประเทศไทย และพบว่าสิ่งที่ฉุดดึงให้การบริหารจัดการไม่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มีสาเหตุจาก “ความไม่เท่าเทียม” นั้นเอง ซึ่งสะท้อนจากการบริหารจัดการของรัฐ โดยผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการตรวจเชื้อ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกระลอกของการระบาด ซึ่งถึงแม้การระบาดครั้งล่าสุดภาครัฐได้ออกมาตรการให้ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น สัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด และมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของอาการติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐหรือเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่สะดวกในการเดินทางและไม่สามารถเข้าถึงการบริการเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ที่ล่าสุดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-١٩ สืบเนื่องจากชุมชนแห่งนี้มีผู้อาศัยอยู่มากถึง 80,000 คน และมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในชุมชนดังกล่าวมากกว่า 300 ราย จึงเป็นที่น่ากังวลว่าเชื้อจะแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดของประชาชนในทุกระดับ จึงส่งผลให้การระบาดในระลอกนี้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสถานพยาบาล อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด เชื้อโควิด-19 ระลอกล่าสุดคือ ปัญหาเตียงไม่พอรองรับกับจำนวนผู้ป่วย ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดระลอกนี้เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ข้อมูลจากบทความทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases ได้นำเสนอผลการศึกษาออกมาว่าเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถระบาดได้รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันมากกว่า 1,000 คนถึงแม้จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่ได้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลสนาม แต่ก็ยังคงมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังตกค้างไม่ได้เข้ารับการรักษา และท้ายที่สุดอาการทรุดหนักจนเสียชีวิตภายในที่พักของตนเอง ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของการบริหารและการวางแผนการรับมือของภาครัฐอย่างเห็นได้ชัด ที่หากรัฐนำบทเรียนจากการแพร่ระบาดระลอกแรกและระลอกสอง รวมถึงบทเรียนจากประเทศ อื่นๆ มาประกอบการวางแผนและเตรียมรับมือ ด้วยการจัดสรรสถานพยาบาลต่างๆ ให้พร้อมและเพียงพอ การระบาดระลอกล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นคงไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก
ความไม่เท่าเทียมในการได้รับวัคซีน เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ การที่มีผู้มีอภิสิทธิ์พิเศษได้รับวัคซีนโควิด-١٩ก่อน ตั้งแต่รัฐยังไม่เปิดให้มีการจอง ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้าหลายคนยังไม่ได้ฉีด จนต้องออกมาเรียกร้องขอรับวัคซีนจากรัฐบาลผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมไปถึงการที่รัฐผูกขาดการนำเข้าวัคซีนในช่วงก่อนการระบาดรอบใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเสี่ยงต่อผู้ไม่หวังดีแอบอ้างชื่อบริษัทขายวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นวัคซีนปลอม ทำให้วัคซีนมีจำกัดทั้งจำนวนและชนิดไม่เพียงพอต่อการนำมาควบคุมการระบาดรอบใหม่ได้อย่างทันท่วงที จึงปฏิเสธได้ยากว่าสาเหตุของการเกิดการแพร่ระบาดระลอกล่าสุด ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการวัคซีนที่ขาดประสิทธิภาพของรัฐ
ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทาง 3 ข้อ ที่จะเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ และบรรเทาความรุนแรงของการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้
ได้แก่
١. รัฐควรสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพ (Health Equity) ในการเข้าถึงการตรวจเชื้อและการรับบริการสุขภาพ โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ครอบคลุมกับข้อจำกัดของประชาชนให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะปิดช่องว่างและไม่ให้มีผู้ที่ตกหล่นจากการเข้ารับบริการสุขภาพ
٢. รัฐควรมีการวางแผนและการบริหารจัดการที่ชัดเจน ทั้งนี้รัฐควรมีการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เกี่ยวกับจำนวนเตียงในแต่ละโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นข้อมูลกลางที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถประสานงานและติดต่อในกรณีที่ต้องนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษารวมทั้งทำให้ทราบได้ว่าในตอนนี้เรามีความขาดแคลนเตียงมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้ดำเนินการจัดเตรียมเพื่อรองรับกับจำนวนของผู้ป่วย
٣. รัฐควรส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) กับภาคเอกชนได้มามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนนอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐจัดหามาซึ่งยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้มีจำนวนและชนิดของวัคซีนที่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจำนวนมาก เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจกันต่อไปอย่างทันท่วงที
หากรัฐไม่รีบปรับตัวเพื่อลดความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ ผลกระทบจากโควิด-١٩ จะยิ่งสร้างความไม่เท่าเทียมในด้านอื่นๆ ในสังคมมากขึ้นไปอีก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างหนักหน่วง แต่วันนี้ยังไม่สายเกินไปผู้เขียนยังเชื่อว่าหากรัฐบาลยอมรับจุดบกพร่องเหล่านี้และมีความจริงใจในการลดความไม่เท่าเทียม ความรุนแรงของสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นจะลดลง และคำพูดที่ว่า“ไว้เจอกันหลังโควิด” จะไม่รู้สึกว่าเป็นเวลาที่ยาวนานอีกต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี