“…Come on, vogue (vogue) Let your body move to the music…” เนื้อเพลง vogue ที่ดังกึกก้องไปทั่วท้องถนน ธงสีรุ้งที่โบกสะบัด ผู้คนที่รวมตัวกันอย่างเริงร่าและแจ่มใสร่วมเดินขบวนเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือชาว LGBTQI+ (gay, lesbian, bisexual, transgender,queer, intersex และเพศอื่นๆ) หากไม่มีสถานการณ์โควิด ภาพบรรยากาศการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month ในเดือนมิถุนายนคงจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
นอกจาก Pride Month จะจัดขึ้นเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับศักดิ์ศรีชาว LGBTQI+ และสร้างแรงผลักดันให้สังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงประวัติศาสตร์ Stonewall Riot การต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ผู้อ่านหลายท่านคงมองว่าตอนนี้สังคมไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่างได้รับการยอมรับและมีความเท่าเทียมในสังคมอย่างกว้างขวาง แต่ในความเป็นจริงผู้อ่านรู้ไหมว่า “การคอร์รัปชัน” คือหนึ่งในตัวร้ายที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมในสังคม
เนื่องด้วยโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมในหลายประเทศไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และบางประเทศ เพศสภาวะ LGBTQI+ หรือคู่รักเป็นเพศเดียวกัน (homosexuality) อยู่ในสถานะที่ผิดกฎหมาย มีความรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต เช่น ประเทศซูดาน อิหร่าน และอินโดนีเซีย เป็นต้น การที่เพศภาวะและรสนิยมทางเพศถูกทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้กลุ่ม LGBTQI+ มีความเปราะบางและสามารถเป็นเหยื่อของการคอร์รัปชันได้ ซึ่งมักเกี่ยวโยงกับผู้ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ใช้อำนาจของตนเองในการขูดรีดสินบน ในบริบทดังกล่าวผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักมีความจำเป็นที่ต้องหลบซ่อนอัตลักษณ์และตัวตน หรืออาจจะต้องยอมจ่ายสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองต้องถูกดำเนินคดี
โดยจากบทความของ Transparency International (TI) ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แอปพลิเคชันหาคู่สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้ที่มีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน (dating application) เป็นเครื่องมือในการล่อลวงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาจับกุมซึ่งมักจะลงเอยด้วยการเรียกเก็บสินบน เช่น กรณีของชายหนุ่มชาวรัสเซียชื่อนาย Fedor ที่ได้นัดหมายชายหนุ่มอีกคนเพื่อไปออกเดทกัน แต่เมื่อนาย Fedor ไปหาคู่เดทของเขา กลับพบเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนรอเข้าอยู่และกล่าวหาว่าคู่เดทของเขาเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และได้จับนาย Fedor ซึ่งตำรวจได้ยื่นข้อเสนอให้จ่ายสินบนไม่อย่างนั้นจะโดนดำเนินคดี โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์นาย Fedor พยายามที่จะร้องเรียนเหตุการณ์การคอร์รัปชันดังกล่าว แต่ถูกปฏิเสธและไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างใด
นอกจากนี้ในประเทศซึ่งความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือสังคมที่ไม่ยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนำไปสู่การกดขี่และถูกแสวงหาผลประโยชน์ในที่ทำงาน ซึ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมขยายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งรายงานที่จัดทำโดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศเยอรมนี ชี้ว่ากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศจำเป็นที่จะต้องปิดบังเพศสภาวะของตนเองเพื่อป้องกันการโดนเลือกปฏิบัติและการโดนกดขี่จากนายจ้าง เช่น นายจ้างเลือกที่จะจ้างพนักงาน LGBTQI+ในค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดยแลกเปลี่ยนกับการไม่แจ้งตำรวจหรือการเปิดเผยอัตลักษณ์ให้สังคมรับรู้ การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะยิ่งทำให้ช่องว่างของความเท่าเทียมนั้นยิ่งกว้างมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันการแสวงหาความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมหรือหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนก็เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปได้ยากเพราะโครงสร้างที่เป็นภัยต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหลายครั้งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการและกลัวว่ากระบวนการดังกล่าวจะนำไปสู่การเปิดเผยตัวตน และทำให้เกิดอันตรายตามมาผู้เขียนมองว่าโครงสร้างในประเทศที่กดทับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรมนอกจากนี้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์และการคอร์รัปชันจากเจ้าหน้าที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุสิทธิที่เท่าเทียมระหว่างเพศได้
คงไปปฏิเสธไม่ได้ว่าเราจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขเรื่องของการคอร์รัปชันและความเท่าเทียมไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือปัญหาการคอร์รัปชันนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมและความไม่เท่าเทียมก็นำไปสู่การคอร์รัปชัน ดังนั้นการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองประเด็นนี้ โดยผู้เขียนมองว่าการที่จะสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภาครัฐจะต้องเป็นกำลังที่สำคัญในการขจัดปัญหาการคอร์รัปชัน ในทางเดียวกันก็ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างที่เป็นปัญหาต่อความเท่าเทียมในสังคม
ผู้เขียนขอยกส่วนหนึ่งของหลักการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอย่างมีธรรมาภิบาล 2 ด้านที่สามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ ในด้านแรกเริ่มจากการสร้างระบบและกฎหมายในสังคมให้สามารถปกป้องทุกคนทุกเพศจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องผ่านการมีส่วนร่วม (participation) และมีการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ที่ความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่น พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมในสังคม ทั้งนี้การบังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความเอาจริงเอาจัง มีช่องทางในการตรวจสอบและร้องเรียนที่ปลอดภัย (whistleblowing system) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติและลดช่องโหว่ให้กับเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาเงินสินบน (accountability and equity) และในด้านที่สองเป็นการปลูกฝังคุณค่าของความเท่าเทียม การเคารพซึ่งความแตกต่าง หลักการมีส่วนร่วม การต่อต้านการคอร์รัปชันและการเป็นพลเมืองที่ดี เช่น โครงการ Active Youth โดย HAND Social Enterprise ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของครู นักเรียนผ่านการปลูกฝังคุณค่าของความเท่าเทียม การเคารพซึ่งความแตกต่าง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องความเชื่อและบรรทัดฐานในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและการต้านโกงต่อไป
สุดท้ายนี้ ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมและการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปัญหาโลกแตกว่าจะแก้ไขอะไรก่อนดีผู้เขียนมองว่าต้องทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ทุกเดือนต่อจากนี้เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจและเดือน Pride ของทุกคน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี