สวัสดีครับ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก จนไม่รู้ระลอกที่เท่าไหร่แล้ว ท่านผู้อ่านได้จองหรือฉีดวัคซีนโควิด-19 กันหรือยังครับ ตัวผมเองได้จองให้กับคุณพ่อ-คุณแม่ที่ท่านมีอายุเกิน 60 ปี ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” เรียบร้อยแล้วครับ คุณพ่อก็จะได้คิวฉีดในเดือนมิถุนายนและคุณแม่ก็จะได้คิวฉีดในเดือนกรกฎาคมตามลำดับ และจองให้กับตัวเองผ่านwww.ไทยร่วมใจ.com นัดหมายไว้ว่าจะได้ฉีดต้นเดือนกรกฎาคม
จองเสร็จก็ติดตามข่าวสารรายวัน ยอดผู้ติดเชื้อกับยอดผู้เสียชีวิตก็ดูจะไม่ลดลงเลย ข่าวของภาคส่วนต่างๆ ที่เคยช่วยเหลือกันด้วยนวัตกรรมทางสังคมอย่างเช่น ตู้ปันสุข เหมือนเมื่อปีที่แล้วก็ไม่ค่อยจะมี แสดงว่ารอบนี้หนักจริง เศรษฐกิจทรุดจริงๆ จนคนไม่รู้จะเอาสุขที่ไหนไปปันเสียแล้วและยังมีข่าวเรื่องวัคซีนเจ้ากรรมที่ผลิตในประเทศเราดูจะยังไม่พร้อมจำหน่ายจ่ายแจกให้ได้ทั่วประเทศ เหมือน “หมอพร้อม” และประชาชนที่วันนี้ส่วนใหญ่ก็พร้อมรับการฉีดวัคซีนแล้ว
จากหลายเหตุการณ์ข้างต้น ผมเองก็ได้แต่คิดว่าเราจะมีส่วนร่วมในการทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง ในวันนี้เลยจะมาชวนผู้อ่านมาวิเคราะห์การจัดการวัคซีนโควิด-19 ด้วยหลักธรรมาภิบาล และลองตั้งคำถามดังๆ (เพราะครั้นจะเขียนเชิงวิจารณ์ก็กลัวจะถูกดำเนินคดี) เผื่อจะไปถึงหู-ถึงตาผู้มีอำนาจแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยจะมีประโยชน์หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยผมจะขอยกมาแค่ 4 ข้อ คือ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effectiveness and Efficiency) ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) กลไกความรับผิดชอบ (Accountability) รายละเอียดมีดังนี้ครับ
1) ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effectiveness and Efficiency) เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพในการจัดสรรวัคซีนนั้น ผมก็ไม่ได้หวังว่าเราจะสามารถฉีดวัคซีนได้พร้อมกันทีเดียว 60 ล้านคน หรือมีวัคซีนทุกยี่ห้อให้ได้ฉีด แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือการวางแผนจัดหาวัคซีนในด้านปริมาณโดสเพื่อให้เกิดความปลอดภัยครอบคลุมคนในประเทศนั้นยังไม่เพียงพอเพราะในตอนแรกรัฐตั้งเป้าจัดหาแค่ทั้งหมด 66,617,000 โดส (รวม 2 ยี่ห้อ) สำหรับ 33,308,500 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ และเพิ่งปรับเพิ่มเป้าหมายในการจัดหาเป็น70% ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จนสุดท้ายก็เปิดโอกาสให้มีการจัดหาอย่างเต็มที่ให้ครอบคลุม คำถามสำคัญในข้อนี้ก็คือ ทำไมถึงไม่วางแผนจัดหาวัคซีนให้ครบถ้วน ให้ครอบคลุมเสียตั้งแต่แรก? หรือท่านได้ใช้ข้อมูลกลุ่มประชากรที่อาจจะไม่สามารถฉีดได้มาคิดไว้เรียบร้อยแล้ว? และได้ใช้ข้อมูลเพื่อมาตัดสินใจให้การจัดสรรวัคซีนเพียงพอและครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างชาติ นักธุรกิจต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่? เพราะประเทศไทยและการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่คนไทยนะ!
ไกลกว่านั้น ถ้าโจทย์คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็วและตามที่รับรู้กันว่ารายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเรามาจากการท่องเที่ยว ไฉนเราจึงไม่รีบสั่งมาให้ครอบคลุมหรือเกินโดยเร็ว? เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศจะได้รีบกลับมาฟื้นตัวโดยไว ไม่ต้องไปขอความร่วมมือให้ปิด ให้นั่งคนเดียว จนร้านรวงพากันปิดตัวถาวรไปเป็นจำนวนมาก ชะโงกดูไกลๆ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตอนนี้ บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังและคนไทยจำนวนไม่น้อย เช่น คุณมิ้นท์ I Roam Alone, คุณแดนนี่เบล็สซิ่ง, คุณ Nate จาก My Mate Nate ฯลฯ บินลัดฟ้าไปอเมริกาเพื่อไปเที่ยวและไปฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว นอกจากความปลอดภัยที่ประเทศเขาให้ได้ซึ่งเป็นสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว คิดว่ายังสามารถกระตุ้นให้การท่องเที่ยวในสภาวะที่ไม่มีที่ไหนพร้อมแต่ท่องเที่ยวไทยจะพร้อมก่อนหลายประเทศได้อีกด้วย
ในเรื่องระบบการจองเพื่อให้ได้ฉีดวัคซีนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องว่า รัฐไม่ทราบหรือวางแผนล่วงหน้ามาก่อนเลยหรือว่าจะต้องมี? ทำไมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่ยังไม่พร้อมใช้และไม่สามารถรองรับจำนวนคนเข้าพร้อมกันในเวลามากทั้งที่ตอนแรกถูกวางให้เป็นระบบการจองที่เป็นหลักของประเทศที่ต้องมีจำนวนคนไหลเข้ามาจองเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว? จนสุดท้ายก็ต้องมีอีกหลายระบบมาช่วยจอง ซึ่งต้องขอชมว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีแต่ความจริงนั้นระบบต่างๆ นั้นสามารถวางแผนและคำนวณเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นให้เสร็จเสียตั้งแต่ก่อนวัคซีนจะเสร็จด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่รวมถึงแผนการจำหน่ายจ่ายแจกวัคซีนไปยังพื้นที่ห่างไกล กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นและลงทะเบียนผ่านสารพัด Application ได้ เพราะความพร้อมของทุกคนไม่เท่ากันก็ต้องถามดังๆ ว่ารัฐได้เตรียมแผนสำหรับประชากรหมดทุกกลุ่มหรือยัง? หรือถ้ามีแผนแล้วก็ควรจะกระจายข่าวสารให้ถึงกลุ่มคนเหล่านั้น
ผมเข้าใจว่าการบริหารจัดการวัคซีนในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความไม่แน่นอนสูงอาจจะไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ถูกต้องนัก แต่เมื่อเป็นงานที่มีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยเป็นเดิมพันนั้น ควรจะต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่านี้สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ (scenario) ในการฉีดวัคซีน เหมือนที่ได้เคยคำนวณแบบจำลองสถานการณ์ในเรื่องการแพร่เชื้อไว้หลายทางด้วยกันเมื่อครั้งเริ่มต้นวิกฤตการณ์และเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบ และใช้ข้อมูลที่มีในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รัฐต้องกลับมาตั้งคำถามว่าจากที่ทำมาประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีพอหรือยังโดยอาจมีตัวชี้วัดจากสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19ที่ผมเองก็ยังสงสัยว่า ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564เมียนมาสามารถฉีดวัคซีนจำนวน 2,994,900โดสแล้ว คิดเป็น 2.8% ของประชากร ขณะที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 2,648,256 โดสคิดเป็น 2.0% ของประชากร (ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)) ทั้งที่ทุกท่านก็ทราบดีว่าขณะนี้เพื่อนบ้านของเรานั้นเกิดความไม่สงบในประเทศ ประกอบกับการขนส่งคมนาคมที่ไม่สะดวกนัก วิถีชีวิตที่อยู่กันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ยังสามารถจัดให้เกิดการฉีดได้มากกว่าประเทศเราได้อย่างไร รัฐต้องรีบฉีดก่อนคนจะเป็นโควิด-19 กันหมดจนเกิดภูมิธรรมชาติหรือเสียชีวิตกันไปมากกว่านี้
2) ความโปร่งใส (Transparency) ผมเข้าใจว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น เริ่มเข้าประเทศเรามาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และก็ได้ถูกจัดสรรให้กลุ่มบุคคล VIP ที่จะต้องขับเคลื่อนประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ หลังจากนั้นก็มีการจัดสรรให้กับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณคลัสเตอร์ต่างๆ และผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหากติดโรคคือผู้สูงอายุและกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ที่น่าสงสัยและยังเป็นคำถามคาใจคือ กรณีคุณทอม เครือโสภณ ที่บอกว่าตนเองฉีดเข็มแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม เข็มที่สองเมษายนนั้นเขาฉีดด้วยโควตาของใครหรือหน่วยงานไหนกฎกติกาการฉีด เหตุใดจึงมีการได้ข่าวว่าบริษัทนั้นบริษัทนี้สามารถได้ฉีดก่อน บุคลากรของที่นั่นที่นี่ทำไมถึงได้ฉีดก่อน จะต้องไปเจรจาอย่างไรไม่มีการชี้แจงจากรัฐ โดยอาจจะเป็นเพราะกลัวคนแห่กันไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ณ เวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม กติกาการฉีดที่คลุมเครือในช่วงต้นนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์รู้เฉพาะกลุ่ม และปล่อยให้มีการใช้ดุลยพินิจอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การจัดสรรเกิดความไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร จนพบว่ามีการซื้อขายสิทธิ์ (คูปอง) ในการฉีดวัคซีนของบางคลัสเตอร์ราคาสูงถึงหลักพันบาท มีข่าวการ “กั๊ก” สิทธิ์ในการฉีดวัคซีนระหว่างกลุ่มการเมืองในพื้นที่ การให้ดุลยพินิจกับประธานชุมชนที่นำเอาสิทธิ์ของคนในพื้นที่ไปแจกจ่ายนอกพื้นที่ก็มี ฯลฯ
สรุปคือประชาชนคนทั่วไปไม่มีใครทราบแผนการฉีดและกติกาที่แท้จริงทั้งหมด ต้องขอตั้งคำถามว่าการจัดสรรทรัพยากรในครั้งนี้เป็นไปอย่าง “โปร่งใส” หรือไม่? แต่ที่แน่ใจแล้วคือ “ตรวจสอบได้ยาก” ถ้ากติกาของสังคมนี้คือ คนที่รู้จักกับผู้มีอำนาจและพวกพ้องจะเป็นผู้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตก่อน ผมจึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้คนทั้งหลายในสังคมจะพยายามรู้จัก พยายามสร้างเครือข่าย หรือที่เรียกว่า คอนเนคชัน กับผู้มีอำนาจ เพราะเป็นการการันตีว่าหากวันใดวันหนึ่งชีวิตมีปัญหาก็จะได้รับการช่วยเหลือโดยมีสิทธิพิเศษมากกว่าชาวบ้านชาวช่องทั่วไป คำถามก็คือ เราจะอยู่กันไปแบบนี้ใช่หรือไม่?
อีกคำถามสำคัญก็คือ สัญญาต่างๆ ที่รัฐทำไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัคซีนมีการเปิดเผยเอาไว้ที่ไหนหรือไม่? เท่าที่ผมหาและทราบคือไม่มีการเปิดเผย นอกจากเป็นคำพูดที่ออกมาแถลง ซึ่งมีความกำกวมเป็นอย่างมาก เช่น กรณีการส่งมอบวัคซีน หากติดเรื่องข้อมูลเป็นเรื่องความลับทางการค้า ก็ควรเปิดข้อมูลในส่วนที่เปิดได้ ไม่ใช่ปิดทั้งฉบับแบบนี้
การเปิดเผยอย่างโปร่งใสนี้ไม่ได้มีไว้ให้การทำงานลำบากมากขึ้น หากแต่เป็นการทำให้พี่น้องได้รับรู้ข้อมูลและเกิดความเชื่อมั่น เข้าใจความยากในการบริหารงานภายใต้วิกฤตการณ์ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยรัฐรับมือกับวิกฤตการณ์ แน่นอนว่าจะต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน รัฐควรรับฟังและเอาเสียงเหล่านั้นมาใช้ หรือจะให้สังคมเราอยู่กันแบบคลุมเครือและแบบเครือญาติไร้ซึ่งความโปร่งใสใดๆเป็นบรรทัดฐานต่อไป
3) การมีส่วนร่วม (Participation) วิกฤตการณ์นี้ทำให้เห็นการพยายามมีส่วนร่วมจำนวนมาก การบริหารการมี มีการทำเตียงที่มาจากกระดาษพับ การช่วยกันสร้างโรงพยาบาลสนามของคุณพิมรี่พาย คุณหมอเหรียญทอง และท่านอื่นๆ การเอื้อเฟื้อสถานที่ฉีดวัคซีนจากภาคเอกชน จากหน่วยงานต่างๆ ค่ายมือถือหลักทั้งสามค่ายที่เข้ามาช่วยในการลงทะเบียนนัดรับวัคซีน ไปจนถึงความพยายามที่จะช่วยรัฐในการจัดหาวัคซีนในทุกช่องทาง ดังที่เคยได้ยินตามเพลงว่า “คนไหนคนไทย จะรู้ได้ไง ถ้ามีน้ำใจละคนไทยแน่นอน” อันนี้เรื่องจริงและต้องขอชมเชยครับ แต่สิ่งที่ประชาชนคนธรรมดามีส่วนร่วมในการช่วยออกความเห็น ตั้งคำถาม ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์ รัฐควรรับฟัง ตอบคำถามให้พวกเขาเข้าใจ ไม่ควรไปหาทางใช้กฎหมายให้เขาไม่พูดครับ และถ้าเป็นไปได้ควรบริหารการมีส่วนร่วมโดยการเปิดเผยข้อมูลสิ่งที่ขาดเพื่อให้เกิดการร่วมด้วยช่วยกันมากกว่ามากลัวเสียฟอร์มครับ
4) กลไกความรับผิดชอบ (Accountability) จากหลายข้อที่กล่าวมา รวมไปถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน เช่น กรณีสนามมวย เรื่องบ่อนที่เงียบไปแล้ว เรื่องการปล่อยให้มีการลักลอบเข้าชายแดนทางช่องทางธรรมชาติ หากมีความคืบหน้าใดที่มีการดำเนินการแล้ว รัฐก็ช่วยแถลงผลและก็ขอวอนให้สำนักข่าวช่วยติดตามเรื่องราวและสรุปให้ประชาชนได้เห็นด้วยเถิดว่ากลไกความรับผิดชอบในสังคมนี้ยังมีอยู่ จะได้เกิดเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนช่วงต้น ความประมาทของผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบางท่าน การบริหาร การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า จะไม่ต้องมีใครรับผิดชอบเลยหรือ? จะมีการเอาผู้ที่มีความสามารถเข้ามารับผิดชอบ ช่วยท่านนายกฯ บริหารจัดการหรือไม่? การแสดงความรับผิดชอบอาจกระทำโดยการออกมายอมรับในข้อผิดพลาด การขอโทษสังคม การกล้าลงโทษบุคคลที่ทำงานผิดพลาดแม้จะเป็นพวกพ้องหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันเพียงใด ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถมากกว่าเข้ามาทำงานแทน
สุดท้ายนี้ ต้องขอฝากไปให้กับผู้มีอำนาจว่าท่านอย่าเพิ่งโมโหโกรธาและมึนงงว่าจะต้องทำอย่างไรกับคำวิจารณ์หลากหลายจนไปดำเนินคดีกับผู้ที่ให้ความเห็นบ้าง ทำอะไรไม่ถูกเหมือนนักมวยเมาหมัดบ้าง ผมขอวิงวอนให้ท่านทั้งหลายบริหารจัดการวัคซีนและสถานการณ์โดยยึดเอาประชาชนเป็นสำคัญด้วยหลักธรรมาภิบาลให้ได้โดยเร็ว โดยอาจจะเริ่มจากการค่อยๆ ชี้แจง เปิดเผยอย่างโปร่งใส ขอความช่วยเหลือจากทางภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และผมขอให้กำลังใจฮีโร่ด่านหน้าคือ บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงผู้ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่รับคิว ตรวจบัตร เจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ อาสาสมัคร หน่วยงานราชการและเอกชนที่ช่วยกันอย่างแข็งขัน แล้วก็ขอเป็นกำลังใจแก่สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างดีที่สุด บาดแผลที่โควิด-19 ทิ้งไว้ทำให้ทั้งเศรษฐกิจและสังคมอ่อนแอลง แต่ในเรื่องธรรมาภิบาลในสังคม ไปจนถึงคุณธรรมประจำใจของทุกท่านที่เป็นค่านิยมที่หล่อหลอมสังคมก็ขออย่าให้ลดน้อยถอยกว่านี้เลยนะครับ
โดย สุภอรรถ โบสุวรรณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี