ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อ่านคงได้เห็นกระแสข่าวร้อนแรง “เสาไฟกินรี” ของอบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในโครงการติดตั้งเสาไฟดังกล่าวกันมาแล้วบ้าง ผู้เขียนจึงขอยกมาเล่าในบทความนี้อีกครั้ง เพื่อถอดบทเรียนความสำคัญจากประเด็นร้อนดังกล่าว และเพื่อให้ผู้อ่านที่อาจยังไม่ได้ติดตามข่าวได้ทราบไปพร้อม ๆ กัน ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจและร่วมติดตามข่าวมาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวนี้เริ่มจากเฟซบุ๊คเพจต้องแฉเปิดประเด็นที่เป็นข้อสงสัยจากประชาชน ว่าในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีสภาพเป็นถนนลูกรังและมีแต่พงหญ้า ทำไมจึงมีเสาไฟประดับกินรีหรูหราติดตั้งอยู่เต็มซอย เกิดเป็นคำถามว่าการติดตั้งเสาไฟนี้เป็นของเอกชนหรือภาครัฐ จนพบข้อมูลว่าเสาไฟดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ คือ อบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และเพจต้องแฉได้เปิดหัวข้อว่า “บริษัทรายเดียว ฟาดไป 7 สัญญา งบกว่า 462 ล้านบาทกับเสาไฟกินรี?!” พร้อมให้รายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ ที่เพจต้องแฉค้นจากเว็บไซต์ ACT Ai(https://actai.co/) ประกอบกับให้ข้อมูลจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา คนจึงให้ความสนใจกันถล่มทลาย เพราะเห็นข้อมูลกันไปเลยจะจะ จากภาพรวมข้อมูลโครงการเสาไฟกินรีที่มีในเว็บไซต์ ACT Ai ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งมุมมองที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับเสาไฟกินรี และคนในพื้นที่ต่างช่วยกันตรวจสอบ ไปถ่ายรูปเสาไฟกินรีแถวบ้านตัวเองมาบ้าง ซึ่งพบเสาไฟบางส่วนมีการติดตั้งในซอยรกทึบ ติดเสาไฟกินรีซ้ำซ้อนกับเสาไฟเดิมที่มี และระยะห่างของแต่ะเสาค่อนข้างถี่เกินไป รวมถึงประชาชนได้ขุดคุ้ยข้อมูลและเอามาพูดคุยกันต่อบ้างว่ากระบวนการจัดซื้อโครงการนี้มีอะไรผิดปกติหรือไม่
จากนั้นสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊คเพจชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย, CSI LA, เฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ และแหม่มโพธิ์ดำ เป็นต้น ได้ร่วมแชร์ประเด็นนี้จนเกิดเป็นกระแสในที่สุด ต่อมาสื่อมวลชนก็ต่างนำเสนอข่าวและติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น สำนักข่าวอิศรา, ข่าวช่อง 3, ข่าวช่องวัน, ข่าวช่อง 8, อมรินทร์ทีวี, ไทยรัฐ, บีบีซีไทย (BBC Thai) ฯลฯ ที่ร่วมขยายเรื่องราวจนกลายเป็นข่าวดังกระฉ่อนไปทั่วบ้านทั่วเมือง ล่าสุดขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่ (วันที่ 13 มิ.ย. 2564) เห็นข่าวการลงพื้นที่ตรวจสอบจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เรีบบร้อยแล้ว ไม่แน่ใจว่าเมื่อบทความนี้ได้ถูกตีพิมพ์ไปจะมีความคืบหน้าหรือผลการตรวจสอบอย่างไรบ้าง
จากกรณีข่าวเสาไฟกินรี ที่ได้ยกมาเล่าข้างต้น ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเห็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ “เครื่องมือต้านโกง” ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างมากมายเพียงนี้และยังมีการขุดคุ้ยเสาไฟในพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย เครื่องมือต้านโกงที่ว่านี้จะคืออะไรบ้าง แล้วมีความสำคัญอย่างที่ว่าอย่างไร ผู้เขียนจะขออธิบายเครื่องมือที่ถูกนำไปใช้ในประเด็นเสาไฟกินรี ซึ่งเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งที่ HAND SocialEnterprise ได้ศึกษาข้อมูล รวบรวมและจัดตามประเภทการใช้งานของเครื่องมือต้านโกงทั่วโลกเอาไว้เช่นกัน ดังนี้
1.เครื่องมือประเภท Report corruption (รายงานเหตุคอร์รัปชัน)
เฟซบุ๊คเพจต้องแฉ (Must Share) เครื่องมือสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้มีพื้นที่ในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในสังคม และการแชร์ความรู้ความสามารถของทุกคน โดยใช้กระบวนการ Crowdsourcing เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่อเค้าการทุจริตคอร์รัปชัน มีส่วนร่วมในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และสื่อ
2.เครื่องมือประเภท Detect Corruption (ตรวจจับคอร์รัปชัน)
ACT Ai เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเชื่อมโยงข้อมูลผู้บริษัทผู้รับจ้าง พร้อมระบบประมวล วิเคราะห์ แจ้งเตือนเมื่อพบโครงการที่มีความผิดปกติ หรืออาจมีความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง ACT Ai จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น โดยภาคประชาชนและภาครัฐสามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างง่ายและสะดวก รวมถึงสื่อมวลชน สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล และนำไปต่อยอด ตีแผ่ สู่สาธารณะต่อไป
เห็นได้ชัดว่าเมื่อประชาชนมีเครื่องมือต้านโกงที่สามารถใช้งานได้จริงอยู่ในมือ เช่น เฟซบุ๊คเพจต้องแฉ และ ACT Ai ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมาก จากการที่เครื่องมือได้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและสามารถร่วมจับตาตรวจสอบได้ อีกทั้งสื่อมวลชนยังสามารถนำประโยชน์ไปใช้ในการตีแผ่สู่สาธารณะ เช่นเดียวกับกรณีเสาไฟกินรีได้ แต่ 2 เครื่องมือนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องมือต้านโกงที่มีเท่านั้น ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างบางเครื่องมือของต่างประเทศ ที่ HAND Social Enterprise ได้นำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊คได้อย่างน่าสนใจและน่านำโมเดลมาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต่อไปได้บ้าง ดังนี้
1. Kapra Pemohtib หรือ https://map.shtab.net/ แพลตฟอร์มของประเทศยูเครน ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรมาให้แต่ละเขตนำไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสาธารณูปการในละแวกบ้าน เช่น การซ่อมแซมถนน การปรับปรุงสถานพยาบาลหรือสถานศึกษาใกล้บ้าน เป็นต้น คล้ายๆ กับ ACT Ai ของประเทศไทย
2.USAspending.gov หรือ www.usaspending.gov แหล่งข้อมูลเปิดสาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นำเสนอข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่มีการอนุมัติโดยรัฐบาลกลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐได้โดยสะดวก โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารและงบประมาณ
3.I Paid a Bribe (IPAB) หรือ www.ipaidabribe.com เป็นแพลตฟอร์มของประเทศอินเดีย ที่ให้ประชาชนรายงานเรื่องสินบนโดยไม่ต้องระบุตัวตน เกี่ยวกับรูปแบบ สิ่งของและจำนวนเงินที่ถูกเรียกรับ พร้อมระบุสถานที่เกิดเหตุเพื่อนำมาแสดงปริมาณ ความถี่ และรูปแบบของสินบนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
4.Corruption Watch ระบบรายงานเรื่องคอร์รัปชันของประเทศแอฟริกาใต้ ที่มีความปลอดภัยต่อผู้รายงาน และมีระบบการติดต่อกลับผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower callback service) ผ่าน SMS ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องการข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบรายงานที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต เพื่อนำไปเผยแพร่และทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลักและชุมชน เพื่อให้แน่ใจว่ามีการติดตามผลจากรายงานที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาด้วยในบางกรณี
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาในบทความนี้ผู้เขียนต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เมื่อ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการจะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เราจึงจำเป็นต้องติดอาวุธให้คนด้วย “เครื่องมือต้านโกง” เหล่านี้ด้วย กรณีเสาไฟกินรี ของอบต.ราชาเทวะ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะช่วยกันส่งข้อมูล จับตาและตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น การมีเครื่องมือต้านโกงที่พร้อมแล้ว อย่างเพจต้องแฉและ ACT Ai ร่วมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ช่วยกันผลักดันทำให้อย่างน้อยที่สุดเรื่องได้ถูกเปิดโปง จนนำไปสู่การตรวจสอบต่อไปได้ว่าผิด หรือ ถูกอย่างไร
คำถามทิ้งท้ายบทความนี้คือ แล้วภาครัฐเองพร้อมหรือไม่ที่จะเปิดเผยข้อมูล หรือนำรูปแบบเครื่องมือต้านโกงที่มีทั่วโลกมาปรับใช้อย่างตรงจุด เพื่อให้เกิดการป้องกัน ปราบปราม และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ลดลงได้ ส่วนใครที่อ่านมาถึงตอนนี้แล้วเกิดความอึดอัดใจ มีไอเดียเด็ดๆ สำหรับเครื่องมือต้านโกง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เปิดรับสมัครมารวมพลัง ออกไอเดีย สร้างเครื่องมือเข้าถึงข้อมูล ตั้งแต่วันนี้ - 5 กรกฎาคม 2564 ทาง https://actkathon.actai.co กับ ACTkathon : Anti-Corruption Virtual Hackathon 2021“พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย” หรือดูไอเดียจากเครื่องมือต้านโกงทั่วโลกก่อนได้ที่เฟซบุ๊คเพจ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี