ประเด็นที่น่าติดตามของสังคมไทยในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นคดีสะเทือนวงการตำรวจอย่างกรณีนายโจ้ หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ. เมืองนครสวรรค์ ที่ก่อเหตุพร้อมลูกน้องร่วมกันซ้อม ทรมานผู้ต้องหาค้ายาเสพติดโดยใช้ถุงดำคลุมหัวจนขาดอากาศหายใจเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้ขณะนี้ผู้กระทำความผิดทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ประชาชนก็ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าหลักฐานที่ดูจะชัดเจนขนาดนี้ จะเอาผิดผู้กระทำผิดได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้ ประชาชนยังตั้งข้อสงสัยกรณีที่มาของทรัพย์สินนายโจ้ ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทว่ามาจากการทุจริตหรือใช้ความรุนแรงอย่างผิดกฎหมายเช่นนี้อีกหรือไม่ บทความนี้ผู้เขียนขอชี้ให้เห็นสองกลไกสำคัญที่ต้องเร่งกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกู้วิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันตำรวจ
ประการแรก กลไกกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้สามารถปกป้องผู้แจ้งเบาะแสพฤติกรรมทุจริตภายในองค์กร ดังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า เมื่อมีการเปิดเผยคลิปเหตุการณ์ซ้อมทรมานโดยคนภายใน คนในสังคมก็กังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้นำคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่ จนนำไปสู่การติดแฮชแท็ก #เซฟคนปล่อยคลิป เพื่อเรียกร้องให้การคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล
แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีการวางมาตรการรักษาความลับและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส แต่กลับไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส(Whistleblower Protection) จึงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรมีการเร่งผลักดันให้เกิดการคุ้มครองโดยกฎหมาย และการเพิ่มเครื่องมือให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้อย่างมั่นใจ เช่น ระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยตัวตน จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้แจ้งเบาะแส ทำให้คนในสังคมกล้าออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเครื่องมือการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีการเผยแพร่ข้อมูลบนเฟซบุ๊คเพจ HAND Social Enterprise ที่ชื่อ “Veza” แพลตฟอร์มรายงานการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจโดยมิชอบของตำรวจ ที่มีการใช้งานในประเทศแอฟริกาใต้ ประชาชนสามารถรายงานการทุจริตของเจ้าหน้าที่และประเมินการปฏิบัติงานเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลแบบ Open source ในการเฝ้าระวังการคอร์รัปชัน ฟังก์ชั่นสำคัญในการรายงานสามารถทำได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และระบุรายละเอียดอื่นๆ เช่น เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน ระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุ หรือ เขียนอธิบายเหตุการณ์ เป็นต้น เมื่อแจ้งรายงานเรียบร้อยจะมีการแสดงผลผ่านระบบแผนที่ให้ประชาชนสามารถกดเข้าดูรายงานในจุดต่างๆ เครื่องมือดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจที่จะนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยตัวตนในประเทศไทย
ประการที่สอง กลไกด้านความโปร่งใสและการตรวจสอบ จากการเปิดเผยข้อมูลการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งประกอบด้วย รถยนต์หรูหลายสิบคัน บ้านพักราคาหลายสิบล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินเบื้องต้นของนายโจ้ราคาหลายร้อยล้านบาท เป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเรื่องความร่ำรวยที่ผิดปกติ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่ความผิดหากอธิบายที่มาของทรัพย์สินเหล่านี้ให้ได้
เมื่อหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและสอบถามข้อเท็จจริงไปที่หน่วยงานตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายโจ้ พร้อมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินดังกล่าว ป.ป.ช. ก็เลยออกมาชี้แจงว่า ข้าราชการตำรวจที่ต้องชี้แจงบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย คือตำรวจระดับผู้บังคับการ หรือยศพลตำรวจตรีขึ้นไป แต่ในกรณีนายโจ้ อยู่ระดับผู้กำกับการ มียศเป็นพันตำรวจเอก จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องยื่นชี้บัญชีทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าทรัพย์สินของผู้กำกับโจ้มีจำนวนเท่าใด หรือทรัพย์สินเหล่านี้ได้มาอย่างไร
ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้มีการยื่นข้อมูลทรัพย์สินของข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในผลประโยชน์ของประชาชนให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อหากมีกรณีต้องสงสัยเช่นนี้ จะได้สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ก็ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและภาระต่อผู้ปฏิบัติงานด้วย ดังนั้นการเริ่มหารือและพิจารณาเรื่องนี้จึงสำคัญมาก อย่ารอให้ต้องมีวัวหายถึงจะล้อมคอกอีกเลย
ท้ายที่สุดผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสังคมไทยที่ต้องไม่ปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ นอกจาก 2 ข้อเสนอนี้แล้ว ยังมีข้อแนะนำเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และการเพิ่มความโปร่งใสในระบบราชการอีกหลายข้อจากหลายหน่วยงาน ถ้าผู้มีอำนาจในขณะนี้ไม่คิดที่จะทำสักอย่าง ประชาชนอย่างเราก็ต้องเรียกร้องอย่างเต็มที่ ผลักดันผ่านผู้แทนในสภาฯ ผลักดันผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าปล่อยให้เป็นเพียงอีกกรณีหนึ่งที่จะเงียบหายไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
พัชรี ตรีพรม HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี