ปัจจุบันกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีอิทธิพลกับแทบประเทศทั่วโลก SDGs เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ภายใต้หลักการการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leave no one behind) ซึ่งเป็นหลักการที่เน้นความเสมอภาคและการพัฒนาที่มีเสียงของคนทุกกลุ่มอยู่ในกระบวนการด้วย ซึ่งเมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ของประเทศไทย จะพบว่าประเทศไทยนั้นทำได้ดีในหลายเป้าหมาย แต่ก็มีหลายด้านที่ยังมีความน่ากังวลอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดการคอร์รัปชันซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะการคอร์รัปชันนั้นเป็นสาเหตุของปัญหาหลายด้านในสังคม รวมถึงเป็นสาเหตุในการเพิ่มช่องว่างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนกลุ่มเปราะบางให้กว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก
โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 16.3 มีเป้าหมายเพื่อ “ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน” กล่าวคือประชาชนทุกคนควรที่จะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางด้านกฎหมายที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในปี 2018 โดยองค์กร The Hague Institute for Innovation of Law (HiiL) พบว่าประชาชนทั่วโลกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการให้การช่วยเหลือทางด้านกฎหมายได้ โดยประชาชนประมาณ 1 พันล้านคนประสบปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในแต่ละปี เนื่องจากไม่มีความรู้เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขข้อพิพาทและขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย และความรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะดำเนินการการแก้ไขปัญหาและข้อพิพาททางด้านกฎหมาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและสังคมของประชาชน ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งและได้รับผลกระทบจากช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดคือคนกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวจำเป็นต้องทนต่อความการถูกทำร้ายร่างกายเนื่องจากไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย หรือไม่มีเงินทุนที่มากพอในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน การศึกษาขององค์กร Transparency International ชี้ว่าการคอร์รัปชันในกระบวนการยุติธรรมซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของคนกลุ่มเปราะบาง ที่มักถูกกดทับจากสังคมอยู่แล้วให้มีสถานการณ์ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น คนกลุ่มเปราะบางมักโดนลดคุณค่าจากวาทกรรมในสังคมและถูกเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม และในทางกลับกันเมื่อคนกลุ่มเปราะบางต้องการดำเนินคดีหรือฟ้องร้องเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรมที่มีการคอร์รัปชันก็เป็นอุปสรรคที่ให้คนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อฟ้องร้องหรือดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติได้ เช่น การเลือกปฏิบัติทางด้านคดีกฎหมาย และการเรียกเก็บสินบน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันได้สร้างต้นทุนให้กับคนกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหลายครั้งคนกลุ่มเปราะบางบางคนก็เลือกที่จะจำยอมต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น
การเรียกเก็บสินบนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบยุติธรรมได้สร้างต้นทุนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และเป็นสาเหตุหลักๆ ในการกีดกันคนกลุ่มเปราะบางออกจากกระบวนการยุติธรรม โดยจากการศึกษาหลายงานแสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรม เป็นระบบที่มีการเรียกเก็บสินบนสูงมากเป็นอันดับที่สองรองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หนึ่งในงานศึกษาโดย UNDP ได้มีการสำรวจการจ่ายสินบนในประเทศบังกลาเทศในปี 2016 พบว่าสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยใช้บริการศาลต้องจ่ายสินบนเฉลี่ยประมาณ 108 ดอลลาร์สหรัฐต่อคดี หรือประมาณหนึ่งในสี่ของรายได้เฉลี่ยต่อปีประชาชนในประเทศบังกลาเทศ จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นคนกลุ่มเปราะบางที่มีความยากจนซึ่งมีทุนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่น้อยอาจไม่มีเงินทุนที่เพียงพอในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับการที่คนกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงในการถูกเรียกสินบนที่มากกว่าเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้แน่ใจว่าตนจะสามารถเข้าถึงกระบวนการได้
ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มเปราะบางมักเป็นผู้ที่มีทุนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในระดับที่ต่ำส่งผลทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายทั้งในด้านข้อมูลและเงินทุนได้ ด้วยความเปราะบางดังกล่าวจึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการที่อาจจะมีการคอร์รัปชันและการลงโทษเกินความเป็นจริงได้ และการไม่มีเงินที่มากพอส่งผลให้คนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถประกันตนเองและฟ้องร้องเพื่อขอความเป็นธรรม จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมได้สร้างความไม่เชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรม และความเป็นกลางของกระบวนการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเมื่อลองดูโครงสร้างในสังคมแล้วคนกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่จำเป็นที่จะต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดเพื่อปกป้องสิทธิของตนในหลายๆ ด้านที่มักถูกลิดรอนโดยสังคม เพราะฉะนั้น กระบวนการที่ไม่โปร่งใสและคอร์รัปชันถือเป็นการกดทับที่ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำกว้างมากขึ้น
ปัญหาข้างต้นเป็นเพียงการคอร์รัปชันบางส่วนที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม และเมื่อมองผลกระทบของการคอร์รัปชันผ่านแนวคิดเรื่องเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นกรอบที่มีความน่าสนใจโดยองค์กร HiiL ซึ่งเป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม มีพันธกิจในการกำจัดช่องว่างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน โดยการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายและการเสริมสร้างนวัตกรรมโดยมีเสียงของประชาชนเป็นฐาน ได้จัดทำการประเมินความพึงพอใจและความต้องการของประชาชนในการเข้ากระบวนการยุติธรรม ซึ่งการประเมินจะสะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยแบบประเมินประกอบไปด้วย 3 ตัวชี้วัดหลัก และ 10 ตัวชี้วัดย่อย โดย ตัวชี้วัดแรกคือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม (Cost of Justice) ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการยุติธรรม เวลาและค่าเสียโอกาส และความรู้สึกด้านลบต่อกระบวนการและข้อพิพาท ตัวชี้วัดที่สองคือ คุณภาพกระบวนการยุติธรรม (Quality of procedure) ประกอบไปด้วยตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ ความเป็นกลางของกระบวนการ การได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพ และความชัดเจนของกระบวนการและสิทธิ และตัวชี้วัดที่สามคือ ตัวชี้วัดเรื่องคุณภาพของการตัดสินคดีความ (Quality of outcome) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ การตัดสินและจัดสรรผลประโยชน์ที่มีความยุติธรรม การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมที่สิ้นสุดและสามารถแก้ไขปัญหาได้ และการอธิบายผลลัพธ์การตัดสินมีความชัดเจนและโปร่งใส
จากกรอบการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อดัชนีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งสามด้าน ด้านแรกคือกระทบต่อต้นทุน โดยต้นทุนในที่นี้หมายถึงค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ตลอดกระบวนการ และความรู้สึกด้านลบต่อกระบวนการตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการสิ้นสุดการตัดสินคดีความ ในความเป็นจริงต้นทุนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นเปรียบเสมือนด่านแรกของประชาชนในการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันได้สร้างต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินและความรู้สึกด้านลบของผู้ที่เข้าสู่กระบวนการ เพราะฉะนั้นการเรียกเก็บสินบนจึงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหากกระบวนการมีการเลือกปฏิบัติ ต้นทุนทางด้านความรู้สึกก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าเมื่อการคอร์รัปชันเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางแล้วนั้น ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนการและการตัดสิน ผู้เข้าสู่กระบวนการย่อมไม่มีความมั่นใจต่อกระบวนการพิจารณาและการตัดสินว่าจะมีความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน หรือมีการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติในการตัดสินคดีเดียวกันหรือไม่
สุดท้ายนี้ การคอร์รัปชันและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนกลุ่มเปราะบางมีความเกี่ยวโยงกัน การแก้ไขปัญหาควรเริ่มต้นด้วยการรับฟังและเข้าใจประสบการณ์ของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมถือเป็นเรื่องที่สำคัญจะทำให้เข้าใจว่าต้นตอและช่องโหว่ของการแก้ไขปัญหาของคนทุกกลุ่ม แนวทางดังกล่าวคือ การแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่ยึดเอาเสียงของทุกกลุ่มประชากรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาระดับนโยบายและกฎหมาย นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐควรเอาจริงเอาจังกับการปราบคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ การสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีความโปร่งใส การมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการตัดสินคดีความ และที่สำคัญจะต้องมีระบบที่ให้การช่วยเหลือทางด้านข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาภาคประชาสังคมในการเป็นกระบอกเสียงและเป็นผู้นำในการต่อสู้ให้กับกลุ่มคนเปราะบาง และสุดท้ายก็ต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของทุกคนในการต่อต้านคอร์รัปชันและการไม่นิ่งเฉยต่อการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
เจริญ สู้ทุกทิศ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี