ตั้งแต่ช่วงปลายปี’64 ที่ผ่านมาเราคงเห็นแล้วว่าสนามแข่งขันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเริ่มคึกคัก โดยการทยอยเปิดตัวผู้สมัครของสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงผู้สมัครอิสระ ซึ่งนอกจากประวัติ ชื่อเสียง และความสามารถของผู้สมัครจะเป็นที่น่าสนใจในการใช้เป็นข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม. ของชาวกรุงเทพฯ แล้ว เรื่องนโยบายในการเข้ามาแก้ปัญหารุมเร้าต่างๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะชาวกรุงเทพฯ เองก็คงวาดฝันอยากมีชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ตามสโลแกนที่ติดอยู่กลางเมืองที่เราเฝ้ารอให้เป็นจริงมาแสนนาน
นโยบายที่จะสามารถซื้อใจชาวกรุงเทพฯ ได้ ก็คงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาคาใจชาวเมืองที่กวนใจมานานและไม่มีท่าทีจะทุเลาลงเลยแม้ว่าเราจะเปลี่ยน
ผู้ว่าฯมากี่คนแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจุบัน ปี 2565 กรุงเทพมหานครเดินทางมาถึงครึ่งทางของแผนพัฒนาระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) เพื่อปลายทางแห่งการเป็นมหานครแห่งเอเชีย โดยวางเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 7 ด้านด้วยกัน ได้แก่ มหานครปลอดภัย มหานครสีเขียวสะดวกสบาย มหานครสำหรับทุกคน มหานครกระชับ มหานครประชาธิปไตย มหานครแห่งเศรษฐกิจและเรียนรู้ และการบริหารจัดการเมืองมหานคร แต่ในความเป็นจริงนั้นเหมือนเรายังไม่เข้าใกล้คำว่ามหานครเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเรายังคงเห็นปัญหาต่างๆ ทั้งน้ำเน่าน้ำท่วม ขยะล้นเมือง ทางเท้า รถติดปัญหาเหล่านี้ยังก่อกวนการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเมืองมาโดยตลอด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแก้ปัญหากันถูกจุด ถูกใจชาวเมืองหรือไม่
ผู้ว่าฯคนใหม่ที่จะอาสามาแก้ปัญหาให้ชาวกรุงเทพฯ ได้จริงจำเป็นต้องออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลทั้งจากการลงพื้นที่สัมผัสปัญหาจริงของประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และการใช้ข้อมูลย้อนหลังต่างๆ มาวิเคราะห์ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลย้อนหลังนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันมีการรวบรวม DATA มาเปิดเผยวิเคราะห์ในหลากหลายรูปแบบ โดยทีม WeVis ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกของปัญหา 5 ด้านของชาวเมืองมาให้เห็นกันชัดๆ เลยว่าปัญหาอะไรเกิดที่เขตไหนบ่อยสุด เริ่มตั้งแต่ 1) ปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาสามัญประจำกรุงเทพฯ ที่อาจจะดูว่าท่วมกันแทบจะทุกพื้นที่ แต่จากข้อมูลในปี 2564 เขตสาทร และดินแดง เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังมากที่สุด 2) ปัญหาน้ำเน่าเป็นปัญหาหลักของชาวคลองเตยที่มีค่า BOD (Biological Oxygen Demand) มากที่สุด 3) มลพิษทางอากาศที่เขตจอมทองซึ่งมีสถิติค่าPM2.5 สูงสุดในปี 2564 4) ปัญหาการขาดพื้นที่สีเขียวที่เขตบางกอกใหญ่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนน้อยที่สุด คือ 2.22 ตร.ม./คน และปัญหาสุดท้ายที่เจอกันอย่างถ้วนหน้าและยังส่งผลต่อการพัฒนาเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นคือการขาดข้อมูลเปิดจากภาครัฐในการเข้าถึงที่เป็นประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะเรื่อง “งบประมาณเบิกจ่ายใช้จริง” ที่ยังไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ หลายๆ คนคงอยากรู้ว่าภาษีที่เราจ่ายไปนั้นถูกนำไปใช้แก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน โดยทางทีม WeVis ได้ค้นหาข้อมูลงบประมาณการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ทั้ง 4 พบว่าถูกตั้งงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาไว้รวมแล้ว 8.05% ของงบประมาณ กทม. ทั้งหมดแต่เรากลับไม่สามารถค้นหาได้เลยว่างบประมาณเหล่านี้ถูกใช้จริงเพื่อแก้ปัญหาไว้เท่าไร
ถึงแม้การมีส่วนร่วมของประชาชนจากภาครัฐจะยังไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงเท่าไรนัก แต่เมื่อปลายปี 2564 ทีม Punch up และเครือข่ายได้ร่วมกันระดมความเห็นชาวกรุงเทพฯ ว่าถ้าหากมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณแก้ปัญหากรุงเทพฯ ได้ อยากนำไปแก้เรื่องไหนมากที่สุด ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 4 อันดับแรกจากเว็บไซต์ “Bangkok budgeting อยู่เมืองนี้ต้องรู้เยอะ” ชี้ว่าอยากให้นำไปแก้เรื่องพัฒนาทางเท้ามากสุดถึง 16.79% รองลงมาคือเรื่องจัดระเบียบผังเมืองให้เหมาะสม 14.05% และสุดท้ายคือการแก้ปัญหาจราจรติดขัด 11.60% ซึ่งสูสีกับเรื่องปัญหาการระบายน้ำและการจัดการน้ำท่วม11.30% นี่คงเป็นข้อมูลที่พอจะชี้นำผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้บ้างแล้วว่าถ้าเข้ามาบริหารจัดการภาษีจากประชาชนเพื่อไปแก้ปัญหาให้ประชาชนนั้น ควรใช้งบประมาณอย่างไรและควรแก้ไขที่เรื่องไหนเป็นอันดับแรกถึงจะทำให้เราก้าวเข้าใกล้การเป็นมหานครแห่งเอเชียได้ทัน ปี 2575 ได้จริงตามแผนที่วางไว้
นันท์วดี แดงอรุณ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี