หากให้ผู้อ่านทุกท่านที่ผ่านช่วงวัยเรียนหนังสือมาแล้ว หรือผู้อ่านที่กำลังอยู่ในวัยเรียนหนังสืออยู่ก็ตาม ลองย้อนกลับไปขณะที่ตัวเองกำลังเรียนหนังสือ ลองนึกถึงภาพบรรยากาศ หรือความทรงจำในขณะที่เราเรียนวิชาสังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง หรือคุณธรรมจริยธรรม เป็นอย่างไรกันบ้างครับ?... โดยส่วนตัวถึงแม้ผู้เขียนจะผ่านช่วงวัยเรียนมาแล้วแต่ก็ยังคงจำประสบการณ์ได้อย่างชัดเจน ภาพที่ผุดขึ้นมาคือคุณครูที่กำลังยืนพูดอยู่หน้าชั้นเรียน และให้นักเรียนจดเนื้อหาตามสไลด์ นักเรียนก็จดทันบ้างไม่ทันบ้างเพราะคุณครูกดเปลี่ยนสไลด์ด้วยความเร็วแสง จากนั้นภาพก็ตัดหายไปเพราะเผลอหลับไปด้วยความน่าเบื่อของรายวิชาและความเหนื่อยล้าเพราะเรียนตอนช่วงบ่าย อีกหนึ่งภาพเหตุการณ์ที่ผุดขึ้นมาคือเป็นช่วงเริ่มต้นคาบเรียน คุณครูได้แจกใบงานให้กับนักเรียนทุกคนคนละหนึ่งใบ โดยเป็นใบงานที่เกี่ยวกับหัวข้อหน้าที่พลเมืองที่ของเยาวชน ซึ่งคุณครูก็ได้อธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดการทำใบงานพอสังเขปหลังจากที่คุณครูอธิบายเสร็จ คุณครูก็เตรียมเปิดประตูออกจากห้องเรียนพร้อมกับบอกว่า “ครูขอตัวไปเตรียมงานเอกสารก่อนนะคะ...พรุ่งนี้จะมีคณะกรรมการมาประเมินโรงเรียน” ภาพตัดมาที่เพื่อนๆ ในห้อง (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ต่างตั้งหน้าตั้งตาลอกคำตอบซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าคำตอบที่ตอบไปนั้นมันถูกหรือผิด และก็ไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มันทุจริตแต่อย่างไร เพราะทุกคนต่างคิดว่าการลอกก็ถือเป็นการแบ่งปันความรู้กับผู้อื่น...การแบ่งปันก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองไม่ใช่หรอ?
จากประสบการณ์ข้างต้นพอจะสรุปได้ว่าการเรียนวิชาสังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง หรือคุณธรรมจริยธรรม ดูเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ อาจจะเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยทางด้านเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความเป็นนามธรรม สามารถจับต้องได้ยาก จึงทำให้คุณครูยากที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้หรือออกแบบแนวทางการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและสามารถเข้าใจได้ง่าย หรือเป็นที่ตัวผู้เรียนเองที่อาจจะไม่เข้าใจในตัวเนื้อหา หรือปิดกั้นการเรียนรู้ซะเองเพราะคิดว่าวิชาเหล่านี้มันน่าเบื่อ และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่คุณครูต้องมีภาระอื่นที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน ส่งผลให้ไม่มีเวลาเตรียมการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อตัวผู้เรียน ระบบการศึกษา และสังคมของเราในอนาคตก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านลองไปดูแนวทางการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง หรือคุณธรรมจริยธรรม ของประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกประชาคมอาเซียนของเรา เพื่อดูว่าเค้ามีแนวทางการออกแบบการเรียนรู้อย่างไร เพื่อให้การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และสามารถที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
เริ่มกันที่ประเทศแรก ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการเรียนรู้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมผ่านหนังสือชุดนิทานเด็กที่ชื่อว่า “Tunas Integritas” หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า The Buds of Integrity หมายความว่า ต้นอ่อนแห่งความซื่อสัตย์สุจริต จัดทำโดย สมาคมนักเขียนหนังสือเด็ก (Forum Penulis Bacaan Anak) สมาคมร่วมมือกับกระทรวงศึกษา และวัฒนธรรมของประเทศอินโดนีเซีย และคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต โดยในชุดนิทานประกอบด้วยนิทานสั้นจำนวน 6 ตอน มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันผ่านการเล่าเรื่องในลักษณะนิทานที่มีความกระชับ สนุกสนาน และใช้ภาษาที่เด็กเล็กสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยนิทานชุดนี้ใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ให้เด็กๆทุกคนสามารถรับรู้ เท่าทัน และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
ถัดมาที่ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจเช่นกันโดยมีการให้นักเรียนได้เรียนรู้ความสำคัญของหน้าที่พลเมืองในด้านของการมีส่วนร่วมประชาชน ผ่านการดำเนินโครงการที่มีชื่อว่า “Check My School” ดำเนินการโดย Affiliated Network for Social Accountability in East Asia and the Pacific (ANSA-EAP) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นด้านการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบมาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามและตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของสถานศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและเพิ่มความโปร่งใสในสถานศึกษามุ่งเน้นความร่วมมือของคนในพื้นที่เป็นหลัก มีการอบรมผู้ปกครอง นักเรียน และครูในเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจสอบครุภัณฑ์ในโรงเรียนเพื่อร่วมกันรับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่ของตนเอง ทำให้เกิดเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่กว่าหนึ่งพันคนทั่วประเทศที่มีความพร้อมในการเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ในโรงเรียน เพื่อระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน นอกจากนี้ โครงการได้สร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยท้องถิ่นในการระดมอาสาสมัคร เช่น นักศึกษา กลุ่มลูกเสือ และชมรมต่างๆ เข้ามาเป็นอาสาสมัครด้วย ความสำเร็จของโครงการนี้ถูกนำไปขยายผลในประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศกัมพูชา
และประเทศสุดท้าย ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศสิงคโปร์ (Ministry of Education
Singapore) มีรูปแบบการส่งเสริมคุณธรรมผ่านการจัดรายวิชาเรื่องพลเมืองศึกษาและคุณธรรม (The Civics and Moral Education) ในหลักสูตรการเรียนภาคบังคับในทุกระดับชั้น เพื่อปลูกฝังให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านคุณธรรมและคุณลักษณะนิสัยที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นที่กระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญคือ “จิตอาสา” ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรเยาวชนแห่งสิงคโปร์ ให้มีการพัฒนาโครงการด้านจิตอาสาให้กับเยาวชนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โครงการ The Red Box ศูนย์เรียนรู้สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานเพื่อสังคมกับเยาวชนจิตอาสาคนอื่นๆ และฝึกอบรมทักษะที่เป็นประโยชน์ในการให้บริการชุมชนสำหรับผู้ที่สนใจ และโครงการ Youth Corps Internship Scheme (YCIS) เป็นโครงการฝึกงานระยะสั้นสำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต้องการเรียนรู้การทำงานช่วยเหลือชุมชนและพัฒนาสังคม โดยเยาวชนจะได้นำความรู้และทักษะที่ได้เรียนมาใช้ทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชน
จากที่ได้ลองไปดูประเทศอื่นๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สามารถสรุปรูปแบบเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ 1. ย่อยให้ง่าย จะเห็นได้ว่ามีการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง หรือคุณธรรมจริยธรรม มาย่อยสรุป ปรับเปลี่ยนการนำเสนอให้มีความน่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการเลือกใช้ “สื่อ” ในการนำเสนอ เห็นได้จากตัวอย่างของประเทศอินโดนีเซียที่นำเสนอเนื้อหาผ่านนิทานสั้นที่มีความน่าสนใจ และผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างง่ายๆ ผ่านความเพลิดเพลินจากการอ่านนิทานเหล่านี้ 2. ทำได้จริง หลายๆ ประเทศได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง หรือคุณธรรมจริยธรรม มาเป็นสิ่งที่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง จากตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการเพื่อสังคมหรือจิตอาสาต่างๆ ซึ่งผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้และตกตะกอนองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ และ 3. รัฐสนับสนุน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก เห็นได้จากในหลายๆ ประเทศข้างต้น ทางรัฐบาลต่างให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาโครงการต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้โครงการสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากมองกลับมาที่ประเทศไทยของเราก็มีกระบวนการเรียนรู้หน้าที่พลเมือง หรือคุณธรรม จริยธรรม ที่น่าสนใจเช่นกัน
นั่นก็คือ โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียน หรือ We The Student เป็นโครงการภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ดำเนินงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับทุนสนับสนุนจาก สกสว. และ วช. โครงการดังกล่าวมุ่งให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วม ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการของโรงเรียน พร้อมปลูกฝังความตระหนักรู้ต่อการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน และการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรม School Through Our Eyes กิจกรรมที่ให้นักเรียนสำรวจปัญหาใกล้ตัวภายในโรงเรียน และเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มในโรงเรียนมีการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้หน้าที่พลเมือง พลเมืองได้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
หากผู้อ่านสนใจที่อยากจะติดตามการดำเนินโครงการหรือมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจสามารถมาพูดคุยกันได้ที่เพจเฟซบุ๊ค We The Students Thailand กันได้นะครับ
ภัทรชัย อ่อนน่วม Hand Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี