“ประชาธิปไตย (Democracy)” เป็นคำที่มีรากมาจากภาษากรีก คือคำว่า Demos (ประชาชน) + Kratos (การปกครอง) เมื่อนำมารวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า “การปกครองของประชาชน” (ประภัสสร ทองยินดี, 2558) ดังนั้นรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่ขึ้นมาปกครองจึงเป็นเพียงผู้แทนที่ใช้อำนาจของประชาชนเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนเท่านั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงถูกนำมาทดลองและปรับใช้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และผ่านการพิสูจน์จนกระทั่งได้รับการยอมรับ รวมถึงถูกยกย่องว่าเป็นระบอบการปกครองที่“ดีที่สุด” สำหรับคนบางกลุ่มเสียด้วยซ้ำ
หากพิจารณาด้วยตรรกะนี้ ก็สามารถตีความได้ว่าปัญหาทางสังคมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานคู่กับประเทศไทยอย่างการคอร์รัปชัน ก็อาจจะเกิดจากการที่สังคมไทยขาดเสถียรภาพทางการเมือง รวมไปถึงประชาชนไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงในการเลือกรัฐบาลหรือผู้นำที่สามารถสะท้อนเจตจำนงหรือผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งนั่นหมายถึงการที่ประชาชนขาดสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย ดังนั้น อำนาจจึงกระจุกอยู่ที่ชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ยากหรือแม้กระทั่งตรวจสอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ! จึงอาจสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่มากเพียงพอ หรือ ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชันยังคงยืดเยื้อ และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้แล้ว ผู้อ่านหลายท่านก็คงคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นแล้วปัญหาการคอร์รัปชันในสังคมไทย ถึงแม้ว่าจะแก้ได้ยากแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ไร้ทางออกโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่ เรายังสามารถมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อยู่ เพราะถ้าหากประชาชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐร่วมกันพยายามรณรงค์เติมส่วนผสมของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ลงไปในสังคม หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือการสร้างสังคมไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น (Democratization) ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนดังนั้นแล้วเมื่อหันไปพิจารณาความสัมพันธ์ของดัชนีประชาธิปไตย(Democracy Index) ที่จัดอันดับโดย Economist Intelligence Unit และดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index - CPI) ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International)ทำการสำรวจเป็นประจำทุกปี ก็คงจะไม่ผิด ที่จะตั้งสมมุติฐานว่า ประเทศไหนที่มีอัตราความเป็นประชาธิปไตยสูง มักจะมีอัตราการคอร์รัปชันที่ต่ำลงไปด้วย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการสร้างสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยกับปัญหาการคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนทำการสำรวจดัชนีประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับดัชนี CPI (ปี 2021) ของบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบบกพร่อง เช่น สิงคโปร์ กลับพบว่ามีอันดับและดัชนี CPI ที่สูงกว่าประเทศประชาธิปไตยแบบเต็มรูปแบบบางประเทศ เช่น แคนาดา, ออสเตรีย, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ ในบางกรณี ประเทศที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแต่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม เช่น เวียดนาม หรือ จีนกลับมีอันดับและดัชนี CPI ที่สูงกว่าบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างเช่น อินเดีย และไทย ซะอย่างนั้น!
ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้ยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นไร้ประสิทธิภาพ หรือ ไม่ได้กำลังเอ่ยว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นสาเหตุของการคอร์รัปชันเสียเอง ราวกับการเมืองยุคเก่าที่คอยผายมือไปหานักการเมืองแล้วบอกว่าคนกลุ่มนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญของการคอร์รัปชันในประเทศอันไม่จบไม่สิ้นเสียที ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีแนวโน้มในการป้องกันและลดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ได้ดีกว่าประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบอื่นๆ เนื่องจากประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ในการเลือก รวมถึงตรวจสอบการทำงานของผู้ปกครองได้ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม คำถามที่ควรพิจารณาต่อคือ แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้บางประเทศซึ่งแม้ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ยังคงประสบกับปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเรื้อรังอยู่ ?
เพื่อตอบคำถามข้างต้น ผู้เขียนจะเปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้เห็นถึงกรณีของประเทศสิงคโปร์และไทย ที่มีดัชนีประชาธิปไตย (ปี 2021) ใกล้เคียงกัน โดยที่สิงคโปร์มีดัชนีที่สูงกว่าเล็กน้อย ได้แก่ 6.23 และ 6.04 ตามลำดับ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI (ปี 2021) ซึ่งไทยถูกสิงคโปร์ทิ้งห่างอย่างน่าตกใจโดยสิงคโปร์ถูกจัดอยู่อันดับที่ 4 จาก 180 ประเทศ เป็นรองเพียง เดนมาร์กฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์ เท่านั้น ส่วนประเทศไทยของเรานั้นหล่นมาอยู่อันดับที่ 110 ซึ่งห่างไกลกับสิงคโปร์เป็นอย่างมาก ดังนั้น จากข้อมูลด้านตัวเลขและลำดับของดัชนีทั้งสองที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่าปัจจัยเรื่องความเข้มข้นของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่กำหนด หรือ ส่งผลต่ออัตราการทุจริตและคอร์รัปชันในสังคม แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสาเหตุที่ยังทำให้บางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยยังคงติดหล่มปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันราวกับถูกสาปให้เป็นแบบนั้นไปตลอดกาล คือเรื่องของ “วัฒนธรรมการเมือง”
แม้ว่าทั้งประเทศไทยและสิงคโปร์จะถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบบกพร่องเหมือนกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมการเมืองของสองประเทศที่แตกต่างกัน ไล่ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงผู้คนในสังคม ก็ทำให้ผลลัพธ์ในด้านของปัญหาการคอร์รัปชัน มีความแตกต่างกันตามไปด้วย สังเกตได้จากการที่รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างระบบราชการที่ใสสะอาดและมีคุณธรรม โดยจะไม่ยอมปล่อยให้มีกรณีการจ่าย - รับ duit kopi (เป็นศัพท์ภาษาบาฮาซาที่แปลเป็นไทยได้ว่า “เงินกาแฟ” เป็นการจ่ายเงินหรือการให้สิ่งของ โดยคาดหวังให้ได้ผลประโยชน์กลับมา) ที่ก่อให้เกิด “พื้นที่สีเทา” อันเป็นช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชันได้ในสังคม รวมไปถึงป้องกันกรณีการทุจริต คอร์รัปชันรูปแบบอื่น ๆ ในทุกหน่วยงานและองค์กร ซึ่งนอกจากภาครัฐจะดำเนินการกำจัดการทุจริตตั้งแต่บนลงล่าง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างแข็งขันแล้ว ประชาชนชาวสิงคโปร์เองก็มีจิตสำนึกอันแข็งแกร่ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิเสธการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ที่สำคัญคือชาวสิงคโปร์สามารถเข้าถึงการทำงานของรัฐได้อย่างโปร่งใสและเท่าเทียม จากการที่รัฐบาลนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผนให้เกิดเป็นนโยบายภาครัฐที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกกลุ่มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บไว้ มาวิเคราะห์ความเสี่ยงในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงลดโอกาสของการคอร์รัปชันลงอีกด้วย (ปัทมา ประสิทธิวงษ์, 2562) ดังนั้นการที่ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐของตนเป็นอย่างมาก ว่านโยบายหรือโครงการของรัฐนั้น จะต้องประสบความสำเร็จและเป็นผลดีกับประชาชนทุกภาคส่วน การคอร์รัปชัน จึงไม่เคยเป็นปัญหากวนใจของสิงคโปร์เลย เมื่อทุกภาคส่วนของสังคมต่างมีชุดความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และอุดมการณ์ต้านโกงไปในแนวทางเดียวกัน
ตัดกลับมาที่ประเทศไทยของเรานั้น… ภาครัฐยังคงปล่อยให้วัฒนธรรมการจ่าย “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” หรือ “ค่าคุ้มครอง” หรือ “ค่าดูแล”เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสังคม การที่ภาคเอกชนหรือประชาชนต้องยอมจ่ายเงินให้กับภาครัฐ (ซึ่งในบางกรณี รวมไปถึงภาคเอกชนกับภาคเอกชนด้วยกันเอง) เพื่อแลกมากับ “คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม” ถูกนับว่าเป็นเพียงการทำตามธรรมเนียม และเป็นการแลก “สินน้ำใจ” หรือ “แสดงไมตรีจิต” ต่อกันโดยที่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือต้องสงสัยอะไร (และในบางครั้ง ผู้ที่ไม่ทำตามธรรมเนียม ก็ถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีตและถูกกลั่นแกล้งด้วยซ้ำ) ค่านิยมแบบไทยๆ เช่นนี้เอง ที่ทำให้เกิด“พื้นที่สีเทา” ซึ่งประเทศสิงคโปร์พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ การคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” ทันที เมื่อตนเองได้รับผลประโยชน์ ผู้คนในสังคมทำกันจนเป็นเรื่องปกติ การคอร์รัปชันจึงได้พัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองที่ฝังรากลึกลงไปในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย
หากผู้อ่านยังเห็นภาพไม่ชัดเจน ผู้เขียนอยากให้ลองนึกถึงกรณีของคนที่เป็นข้าราชการใช้อภิสิทธิ์ในการลัดคิวเพื่อทำธุรกรรมให้กับญาติพี่น้องของตนก่อนหน้าประชาชนคนอื่น ๆ รวมถึงเอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของคนในครอบครัว หรือจะเป็นกรณีหาบเร่ แผงลอย ต้องจ่ายเงินให้เทศกิจเพื่อเป็น “ค่าดูแล” ให้ตนสามารถขายของ ทำมาหากินบนทางเท้าอย่างไม่ต้องกังวล ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจ่ายส่วยให้กับเจ้าเมืองหรือผู้มีอำนาจในอดีตเพื่อแลกกับการดูแล และความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต หรือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ปกครองจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้กับโรงเรียนชั้นนำและมองว่าเป็นการมอบ “สินน้ำใจ” ให้ทางโรงเรียน เพื่อดูแลบุตรหลานของตนเป็นพิเศษโดยที่ไม่รู้ว่าตนและลูกหลานของตนนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชันไปเรียบร้อยแล้ว
จากกรณีที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนไม่ได้กำลังจะบอกว่าศีลธรรม คุณธรรมของผู้คนในสังคมทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน หรือว่าใครดีกว่ากัน แต่ผู้เขียนกำลังเสนอให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะสามารถรักษาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมขนาดใหญ่อย่างการทุจริตและคอร์รัปชันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ทุกภาคส่วนของสังคมยังต้องตั้งคำถามต่อตัวเองว่า เรายังติดหลุมและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการคอร์รัปชันอยู่หรือไม่ ? เรายังมองว่าการใช้อภิสิทธิ์ของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ เป็นเรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” อยู่หรือไม่ ? จากการตั้งคำถามง่าย ๆ เหล่านี้ต่อตัวเอง ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อม รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ไม่จำเป็นต้องรอใคร แต่เริ่มแก้ไขได้ จากตัวเรา
ภาคิน สมเกียรติประยูร Hand Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี