ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “ข้อมูล” หรือ “Data” ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้อำนาจ ใช้งบประมาณ และแวดวงนักการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากมายครับ เริ่มตั้งแต่ ไอลอว์ (iLaw) เปิดรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติที่แต่งตั้งญาติสนิทคนใกล้ชิดเป็นผู้ช่วยกว่า 50 คน (https://www.ilaw.or.th/node/6167) สว. หรือ สส. 1 คน แต่งตั้งคณะทำงานรวมได้สูงสุดไม่เกิน 8 คน ได้เงินเดือนรวมทั้งหมด 129,000 บาท คำถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยคือ เรื่องความเหมาะสมในการเข้ามารับหน้าที่ เพราะความเป็นคนใกล้ชิดเป็นเครือญาติ ความเหมาะสมในเรื่องของคุณสมบัติกับภาระหน้าที่ (ซึ่งในกรณีนี้ไม่เกี่ยวว่าจะเป็น “คนดี” หรือไม่) อีกทั้งยังมีประเด็นคำถามเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากข้อมูลรายชื่อของผู้ช่วยหรือคณะทำงานของทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อมูลที่รัฐสภาไม่ยอมเปิดเผย!!! อ้างว่าเป็นข้อมูล “ส่วนบุคคล” ซึ่งไม่แน่ใจว่าคำว่า “ส่วนบุคคล” ในที่นี้หมายถึงเป็นเรื่องส่วนตัวของสมาชิกที่ไม่อยากให้ประชาชนทราบหรือเปล่า? ทั้งๆ ที่เงินเดือนของ “ผู้ช่วย” “ผู้เชี่ยวชาญฯ” “ผู้ชำนาญฯ” ทั้งหลายล้วนมาจากเงินภาษีของประชาชน การทำงานอยู่ในหน่วยงานและส่วนงานที่เป็นตัวแทนของประชาชน ก็ควรจะคำนึงถึงความโปร่งใสมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ และนี่คงไม่ใช่ชุดข้อมูลเดียวที่รัฐสภายังไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบ
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นที่ถูกพูดถึงในแวดวงคนทำงานด้านส่งเสริมความโปร่งใส และถือเป็นข่าวที่ค่อนข้างดีขึ้นมาหน่อย คือ กรุงเทพมหานครได้เปิดเผยข้อมูล “ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566” ผ่านเว็บไซต์ https://official.bangkok.go.th/page/127 หลายคนคงงงว่าทำไมถึงเป็นข่าวที่ผมบอกว่าค่อนข้างดี ทั้งๆ ที่ปกติเอกสารงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ก็เปิดเผยบนเว็บไซต์หน่วยงานเป็นแบบเอกสารหรือแบบ PDF อยู่แล้ว แต่การ
เปิดข้อมูลครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ เพราะว่าเป็นเอกสารแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (Machine-readable format) หรือเป็นข้อมูลที่มีความพร้อมใช้งาน ทำให้นักวิจัย นักวิเคราะห์ หรือคนที่ชอบเล่นกับข้อมูลสามารถเอาข้อมูลไปใช้งานต่อได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามาจัดเตรียมข้อมูลกันอีกรอบ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่หลายๆ หน่วยงานควรนำไปใช้ เช่น สำนักงบประมาณ ที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล “งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ”ให้อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้(Machine-readable format) เสียที ด้วยเหตุผลว่า กลัวจะมีการเปลี่ยนแปลง-ปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งเอาจริงๆแล้วไฟล์ PDF ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลง ปลอมแปลงได้ ถ้าคนคิดจะทำ ฉะนั้นจึงไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่เปิดเผย แต่การยิ่งเปิดเผยจะยิ่งทำให้มีหลายสายตาที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบ สร้างความโปร่งใสให้มากขึ้น
พอพูดถึงข้อมูลเรื่องงบประมาณท้องถิ่นเลยมีเรื่องอยากเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบจากข้อค้นพบของผมที่ช่วงนี้กำลังทำงานเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบประมาณของ อบจ.ทั่วประเทศ ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าข้อมูล “ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ไม่มีหน่วยงานไหนรวบรวมไว้ ณ จุดเดียวเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ หมายความว่าถ้าอยากทราบข้อมูลทั้งหมดต้องเปิดเว็บไซต์จำนวน 7,850 เว็บไซต์ ข้อมูลที่มีความกระจัดกระจายมากแบบนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมความโปร่งใสให้เกิดขึ้นด้วย แต่ข่าวดีคือข้อมูลงบประมาณเป็นข้อมูลที่ท้องถิ่นส่วนใหญ่เปิดเผยให้ประชาชนทราบ จะยกเว้นที่ผมพยายามหาเท่าไหร่ก็ยังไม่เจอข้อมูลเสียที คือ “ข้อบัญญัติงบประมาณปี 2565 ของ อบจ.ประจวบคีรีขันธ์” ที่ไม่ว่าจะเปิดเว็บไซต์ โทรศัพท์ไปหาและพยายามติดต่อทุกช่องทางก็ยังไม่ได้ ฝากท่านผู้อ่านที่เป็นคนประจวบฯ ช่วยชี้ช่องให้ผมทีนะครับ ขอบพระคุณมากครับ และนี่ยังไม่รวมข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ของท่านนายก (อบจ.) ทั้ง 76 ท่าน ที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียงแค่ 72 ท่าน และเปิดให้ประชาชนดูเพียงแค่ 180 วันตามประกาศของ ป.ป.ช. เรื่องนี้ผู้เขียนก็ยังงงว่าเพราะอะไรถึงไม่เปิดไปตลอดช่วงของการดำรงตำแหน่งเพื่อให้ประชาชนสามารถดูข้อมูลได้
ที่ยกตัวอย่างทั้ง 4 เรื่องมาเสียเยิ่นยาวเพื่ออยากจะบอกกับท่านผู้อ่านว่า “ข้อมูล” ที่หน่วยงานภาครัฐถือว่าเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น ที่จริงแล้วควรจะเป็นข้อมูลของสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแนะนำและช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานและประสิทธิภาพในการใช้เงินภาษี
คณะทำงาน Open Data Charter ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนประเด็นการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้มีมาตรฐาน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการสร้างความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชันเอาไว้หลายประเด็น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างมาเล่าให้ทุกท่านฟังบางส่วน เช่น การสร้างความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล ณ จุดเดียวแบบออนไลน์ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่เปิดข้อมูลแบบกระจัดกระจายแบบที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น การกำหนดคุณภาพของข้อมูลให้มีความพร้อมต่อการนำไปใช้ต่อ การเปิดเผยข้อมูลให้รวดเร็วทันสมัยทันเวลา (เผื่อผิดพลาดจะได้ยับยั้งและแก้ปัญหาได้ทัน) และการกำหนดชุดข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันไว้กว่า 25 ชุดข้อมูล ซึ่งครอบคลุมชุดข้อมูล “บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” และ “ข้อมูลงบประมาณและข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ” เพราะบุคคลที่จะเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจ
ได้รับประโยชน์จากความเป็นคนใกล้ชิด กลายเป็นช่องทางพิสดารให้เกิดการคอร์รัปชันได้ อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนก็ควรจะเป็นไปด้วยความโปร่งใสเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีช่องทางให้ประชาชนติดตามตรวจสอบได้
สุดท้าย “ข้อมูล” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในกระบวนการการสร้างความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะหลายครั้ง “ข้อมูล” ก็ทำให้ “คนดี” เผยธาตุแท้ว่าแท้จริงแล้วเป็น “คนไม่ดี” มาแล้วนักต่อนัก
ณัฐภัทร เนียวกุล Hand Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี