ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมงานวิ่งการกุศล โคราช โมโตเวย์ลําตะคอง ซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน จัดโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน และภาคเอกชนมีกลุ่มนักวิ่งและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 7,000 คน ภายในงานจัดระยะวิ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 5 กิโลเมตร 13.6 กิโลเมตร และ 25 กิโลเมตร ผู้จัดงานได้ชี้แจงว่า รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะมีการมอบเงินให้กับ 5 องค์กร ได้แก่ สมทบทุนเพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ปรับปรุงที่ประทับของ ร.9 ครั้งเสด็จฯเยือนจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเทิดพระเกียรติ สมาคมคนตาบอดนครราชสีมา สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดนครราชสีมา และมอบทุนการศึกษานักศึกษา มทร. อีสาน
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมผู้เขียนพบเห็นปัญหาหลายอย่าง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยของชีวิตในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง เช่น การจัดน้ำไม่เพียงพอ ไม่มีการคัดกรอง COVID-19 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยการตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วม ห้องน้ำไม่เพียงพอและไม่มีรถรับ-ส่งตามที่ผู้จัดงานได้ชี้แจงรายละเอียดไว้ผู้เขียนได้อ่านความคิดเห็นนักวิ่งท่านอื่นๆ พบว่า มีนักวิ่งหลายคนพบเจอปัญหาหลายอย่างเช่นเดียวกัน
บทความในตอนนี้ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่าการจัดงานวิ่งควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการจัดงานเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตนักวิ่งและไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอก และการจัดงานวิ่งการกุศลควรมีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส สามารถร่วมกันตรวจสอบได้โดยไม่ต้องเกิดการร้องขอให้มีการเปิดเผยข้อมูล กลุ่มนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานวิ่งจะได้รับความอุ่นใจตลอดระยะทางในการวิ่งว่ามีความปลอดภัย และเงินส่วนหนึ่งที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจะถูกนำไปใช้เพื่อการกุศลอย่างแท้จริง
ปัจจุบันการจัดงานวิ่งเกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์มีรูปแบบการจัดงานที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดงานวิ่ง ดูแลและตรวจสอบให้การจัดงานเป็นไปอย่างมีมาตรฐานเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตในระหว่างการวิ่ง ผู้เขียนจึงศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานวิ่งในประเทศไทย พบว่า มีกฎหมายหลายฉบับและการบังคับใช้ค่อนข้างกระจัดกระจายเป็นไปตามหน่วยงานที่เป็นผู้บังคับใช้ เช่น พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และข้อบัญญัติส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาตในการจัดงานวิ่งแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
แม้ว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่ควบคุมและดูแลอย่างชัดเจน การกีฬาแห่งประเทศไทยแม้มีกฎหมายให้อำนาจตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 8(7) กำหนดให้คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีหน้าที่สอดส่องและกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมกีฬา และมาตรา 19 กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการออกข้อบังคับหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการสอดส่องและกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมกีฬา ซึ่งในปัจจุบันพบว่ายังไม่มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการกำกับดูแลงานวิ่ง มีเพียงการออกคู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนของประเทศไทย โดยแปลจากระเบียบของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAAF) คู่มือดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำในการจัดงานวิ่งเท่านั้น ไม่มีการออกข้อบังคับและบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ เมื่อไม่มีข้อบังคับ บทลงโทษ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและดูแลมาตรฐานการจัดงานวิ่งอย่างชัดเจน ย่อมเป็นช่องว่างให้เกิดการจัดงานวิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต ความปลอดภัยของนักวิ่ง ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่อยู่ในเส้นทางวิ่ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอาจเกิดการโกงการแข่งขันขึ้นได้
ประเด็นต่อมาการจัดงานวิ่งการกุศล เพื่อนำเงินไปสมทบทุนทำบุญต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก การที่ไม่มีหน่วยงานคอยตรวจสอบย่อมเป็นช่องว่างที่อาจเกิดกลุ่มผู้ไม่หวังดีแอบอ้างหรือจัดงานวิ่งลักษณะเช่นนี้ขึ้นได้ ดังนั้นจัดงานวิ่งการกุศลมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูลการขอรับการบริจาค รายได้จากค่าสมัครและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสทุกคนสามารถร่วมกันตรวจสอบได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดการร้องเรียนขอตรวจสอบ งานวิ่งการกุศลที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสย่อมได้รับการสนับสนุนในการจัดงานครั้งต่อไป
ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างงานวิ่งการกุศลที่มีการเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายและการบริจาคต่างๆ โครงการก้าวคนละก้าวที่มีจุดเริ่มต้นจากคุณตูน บอดี้สแลม และเพื่อนๆ จัดกิจกรรมวิ่งเพื่อขอรับบริจาคเงินสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย มีการเปิดรับบริจาคหลายช่องทาง ประชาชนร่วมบริจาคโดยนำเงินไปมอบให้ด้วยตนเองระหว่างเส้นทางวิ่ง และผู้สนใจสามารถโอนเงินร่วมบริจาคได้ ในแต่ละวันจะมีการสรุปจำนวนเงินที่ได้รับการบริจาคให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางเฟซบุ๊คเพจโครงการฯ งานวิ่งครั้งนี้ได้รับบริจาครวมกว่า 1,300 ล้านบาท หลังจากการวิ่งจบลงมีการจัดเวทีเพื่อมอบเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง และชี้แจงยอดบริจาคที่มอบให้แต่ละโรงพยาบาลอย่างชัดเจน เช่น โรงพยาบาลยะลา 91 ล้าน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 136.5 ล้าน โรงพยาบาลราชบุรี 130 ล้าน เป็นต้น ภายหลังโครงการก้าวคนละก้าวยังคงจัดงานวิ่งการกุศลขึ้นหลายรูปแบบเพื่อขอรับบริจาคในหลาย ๆ โครงการ ผู้เขียนเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลเงินบริจาคเป็นสิ่งที่ผู้จัดงานดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เราในฐานะประชาชนหรือคนที่ชื่นชอบการวิ่งก็พร้อมสนับสนุนช่วยบริจาคในกิจกรรมครั้งต่อไป
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอเน้นย้ำให้เห็นว่าการจัดงานวิ่งรูปแบบต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างมีมาตรฐานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำหน้าที่ดูแลและตรวจสอบมาตรฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตนักวิ่งและไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น และการจัดงานวิ่งการกุศล ระดมเงินบริจาคเพื่อนำเงินไปทำบุญในรูปแบบต่างๆ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการบริจาคหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสสามารถร่วมกันตรวจสอบได้ เมื่อดำเนินการอย่างโปร่งใสผู้เขียนเชื่อว่ามีนักวิ่งจำนวนมากที่พร้อมจะสนับสนุนงานวิ่งการกุศลต่อไป
พัชรี ตรีพรม HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี