“ในเมื่อเราทำงานในสำนักงานที่มีปัญหาตั้งแต่ประธาน ก็ควรปล่อยผ่านเรื่องทุจริตแค่นี้ไปเหรอ” ประโยคคำถามที่น่าสนใจนี้มาจากซีรี่ส์ที่กำลังมาแรงเรื่อง อูยองอู ทนายอัจฉริยะ Extraordinary Attorney Woo ด้วยความแปลกใหม่ของบท“อูยองอู” นางเอกซึ่งมีภาวะแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger’s Syndrome) โรคในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกับออทิสติก แต่มีความอัจฉริยะ ความจำดี เรียนจบเป็นอันดับหนึ่งของนิติ ม.โซล ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพของผู้พิการในรูปแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้อูยองอูกลายเป็นกระแสที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้น เรื่อยๆ ในทุกสัปดาห์ที่มีการออนแอร์ เพราะนอกเหนือจากการนำเสนอในมุมของผู้พิการให้เราเข้าใจมากขึ้นแล้ว ยังมีเนื้อหาการคลี่คลายปมคดีต่างๆ ให้เราได้ติดตามการแก้ปัญหา รวมไปถึงประเด็นทางสังคมที่แทรกเข้ามาในซีรี่ส์ให้ผู้ชมได้แอบคิดตามอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการเข้าทำงานโดยทุจริตของอูยองอู จากการใช้เส้นสายความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องของพ่อยองอูกับประธานสำนักงานกฎหมายฮันบาดาที่ยองอูทำงานอยู่ ถึงแม้ยองอูจะไม่รับรู้และยินยอมให้เกิดการใช้เส้นสายขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งคนดูก็เกิดความรู้สึกเห็นใจเพราะยองอูเป็นเหยื่อจากการเลือกปฏิบัติในการคัดเลือกเข้าทำงานเพราะความเป็นผู้พิการ จึงอาจจะจำเป็นต้องใช้เส้นสายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการอย่างยองอูได้รับพิจารณา ประเด็นนี้ยังเป็นข้อสงสัยของผู้ชมหลายๆ ท่านว่า แล้วการใช้เส้นสายของยองอูในครั้งนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่
จากการตั้งคำถามของเพื่อนร่วมทีมของยองอูที่นอกจากจะรู้สึกไม่ยุติธรรมต่อการเข้าทำงานของยองอูแล้ว เขายังรู้สึกไม่ยุติธรรมตั้งแต่การมีผู้นำองค์กรที่ได้รับตำแหน่งประธานมาจากการสืบทอดในระบบเครือญาติ แล้วยังต้องพยายามทำเป็นนิ่งเฉยต่อเรื่องทุจริตอื่นๆ ในองค์กรเพราะทุกคนมองเป็นเรื่องเล็กน้อยน่าจะปล่อยผ่านได้ และประเด็นนี้เองทำให้ต้องมาย้อนคิดอีกครั้งว่าการใช้ระบบเส้นสาย หรือการสืบทอดอำนาจของเครือญาติในองค์กรภาคเอกชนนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะหากการสืบทอดนั้นได้บุคคลที่ไร้คุณภาพมาบริหารงาน สุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อองค์กรได้อยู่ดีแต่ผลกระทบคงตกอยู่ภายในองค์กรซึ่งมีผลกระทบในวงแคบ แต่ถ้ามองปัญหาของระบบอุปถัมภ์หรือระบบเครือญาติในการบริหารงานของภาครัฐ ยิ่งมีคำตอบชัดเจนเลยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน และผลกระทบของระบบเครือญาตินั้นสามารถส่งผลเสียเป็นวงกว้างต่อคนทั้งประเทศ เพราะการคัดเลือกบุคคลจากความใกล้ชิดคุ้นเคย ซึ่งหากมองในบางมุมนั่นคือการเลือกคนที่ไว้ใจได้เข้ามาทำงาน แต่ในทางกลับกันเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งหน้าที่เหล่านั้นเป็นบุคคลที่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ เพราะการเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ ในภาครัฐย่อมแลกมาด้วยการใช้ภาษีประชาชนเพื่อจ่ายค่าตอบแทนบุคคลเหล่านั้นทั้งสิ้น
กระแสของปัญหาระบบอุปถัมภ์ในภาคการเมืองของไทยที่ถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ คือประเด็นที่ iLaw เปิดข้อมูลรายชื่อ สว. แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยมากถึง 50 คน จากทั้งหมด 1,830 คน รับค่าตอบแทนหลักหมื่นต่อเดือนและสวัสดิการอื่นๆ อีกมากมายรวมๆ แล้ว 3 ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการจ่ายค่าตอบแทนให้ สว. และคณะไปกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งมีทั้งแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยให้ตนเอง และ “ฝากเลี้ยง” หรือการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วย สว. ท่านอื่นแทน ประเด็นนี้อาจจะดูเหมือนเรื่องปกติในสังคมไทยเพราะเรามักจะได้ยินเรื่องสภาผัวเมีย หรือสภาพี่น้องกันมาอย่างยาวนาน แต่ในยุคที่การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสนั้นเป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารงานในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรภาคเอกชน ระดับโรงเรียน ระดับชุมชนท้องถิ่น หรือการบริหารงานระดับประเทศ รวมทั้งยังเป็นยุคสมัยที่ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้ แม้อาจจะไม่ปลอดภัยในบางครั้งแต่การตั้งคำถามก็นำไปสู่การตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศร่วมกัน
ระบบอุปถัมภ์ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการเสี่ยงที่จะได้บุคลากรที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงานและผลาญงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าตอบแทนแล้ว แต่ระบบอุปถัมภ์ หรือระบบเส้นสายเครือญาติ ยังถูกใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของเจ้าหน้าที่รัฐได้ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรม คัดเลือกบริษัทเครือญาติเข้ามารับงานโดยอาจใช้งบประมาณที่สูงขึ้นเพราะมีส่วนที่ต้องมานำมาแบ่งรายได้กันนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการทำงานจริง รวมถึงเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด นั่นคือการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการคัดเลือกบริษัทเครือญาติเข้ามารับงานแต่ได้ผลงานที่ไม่มีคุณภาพ ถนน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบนี้มักจะเสียหายก่อนเวลาอันควร และอาจจะเกิดอันตรายต่อประชาชนผู้ใช้งานได้
ดังนั้น หากประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันผลกระทบจากระบบอุปถัมภ์ได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย ด้วยการหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรมผ่านการใช้เครื่องมือ ACTAi.co หรือ Covid19.actai.co ก็จะสามารถหาความผิดปกติของการใช้ระบบอุปถัมภ์ของเจ้าหน้าที่รัฐกับเครือญาติได้ และเมื่อพบความผิดปกติจากข้อมูลแล้วยังสามารถส่งข้อมูลนั้นให้เครือข่ายสื่อภาคประชาชนได้เกิดการร่วมกันตรวจสอบอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เพจต้องแฉ (Mustshare) หรือเพจชมรม Strong ต้านทุจริตประเทศไทย และสุดท้ายก็ต้องฝากความหวังไว้ที่หน่วยงานภาครัฐอย่าง ป.ป.ช. ให้เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการลงโทษอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อไม่ให้ระบบอุปถัมภ์ได้มีโอกาสสร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน และความสูญเสียต่อชีวิตประชาชน
สุดท้ายผู้ชมซีรี่ส์อย่างพวกเราอาจจะยังไม่ได้คำตอบว่าการใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่เก่งและอัจฉริยะอย่าง อูยองอู เข้ามาทำงานนั้นถูกต้องหรือไม่ คงต้องรอคำตอบจากซีรี่ส์ในตอนจบ แต่คำตอบของการใช้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยในยุคของการบริหารงานด้วยข้อมูลที่เปิดเผย โปร่งใส และสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างปลอดภัย เราทุกคนคงสามารถหาคำตอบและร่วมแก้ปัญหาได้พร้อมกัน
นันท์วดี แดงอรุณ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี