เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราน่าจะเห็นการประท้วงของนักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่าเกี่ยวกับความเร่งด่วนของปัญหาภาวะโลกร้อน ว่าอีกไม่นานเราจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกที่สวยงามของเราได้อีกต่อไป
ตามมาด้วยนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นภาวะโลกร้อนอย่างคุณ Greta Thunberg ชาวสวีเดนซึ่งออกมาสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกเกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะโลกร้อนและเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างนักการเมืองให้ดำเนินนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและเริ่มดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพได้จริงสักที เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อนได้มาถึงจุดเดดไลน์จริงๆ แล้ว
ทั้งหมดนี้ฟังดูรุนแรง น่ากลัว แต่ไม่เกินจริงเลย เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสภาพอากาศในหลายๆ ประเทศฝั่งยุโรปมีอากาศที่ร้อนมากที่สุดในรอบหลายปี หรือ ในประเทศเกาหลีใต้ มีปริมาณฝนที่ตกเยอะมากที่สุดในรอบ 80 ปี ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนัก ในประเทศไทยเองก็ประสบความแปรปรวนของสภาพอากาศ แน่นอนว่าในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน
นี่จึงนำมาซึ่งมาตรการในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกรอบความร่วมมือในระดับนานาชาติ หรือมาตรการภายในประเทศ และเชื่อหรือไม่ว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนนี่ ก็เกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลด้วย โดยองค์กรระดับนานาชาติได้ชี้ว่าหลักธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยให้การป้องกันภาวะโลกร้อนมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2558 การประชุมในระดับนานาชาติที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หัวข้อ UN Climate Change Conference ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยร่วมกันตั้งเป้าว่าจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสในขณะเดียวกัน เป้าหมายเรื่องการป้องกันภาวะโลกร้อน ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 13 Climate Action ที่กำหนดให้รัฐจะต้องมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติเพื่อป้องกันภาวะโลกร้อน การเสริมสร้างสังคมที่มีความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดภาวะโลกร้อน และความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมายข้อที่ 13 ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าสถานการณ์การขับเคลื่อนมาตรการทางด้านภาวะโลกร้อนมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้อุณหภูมิโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรง ในขณะเดียวกัน ในหลายประเทศก็มีการลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการรับมือปัญหาภาวะโลก ทั้งนี้ คุณ Grete Faremo อดีตเลขาธิการและกรรมการบริหารของสำนักงานสหประชาชาติสำหรับการให้บริการโครงการ (UNOPS) ชี้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งของความล้มเหลวในการจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนคือ หนึ่ง ความไม่มีประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ เนื่องจากการขาดกลไกการตรวจสอบและติดตามนโยบายต่างๆ สอง นโยบายเหล่านี้ขาดการคำนึงถึงความต้องการและความเปราะบางของประชากรทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม และสาม ซึ่งสำคัญมากคือ การคอร์รัปชัน ดังนั้นคุณ Grete Faremo จึงระบุว่าการมีธรรมาภิบาลในการจัดการกับมาตรการทางด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนทางด้านนโยบายอย่างแท้จริง
จริงๆ แล้วธรรมาภิบาลเป็นกรอบที่ใช้ในการบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมมานาน และองค์กรระดับนานาชาติก็ยกให้เป็นกรอบในการสร้างความมีประสิทธิภาพเชิงนโยบายของรัฐทั่วโลก องค์กร UNICEF ชี้ว่า ธรรมาภิบาลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับการพัฒนาของประเทศต่างๆ และความเป็นอยู่ที่ดีของธรรมชาติและผู้คน เป็นกรอบที่ช่วยแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ซับซ้อน สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับสังคม และเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน หลักธรรมาภิบาลได้หนุนเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมการตัดสินใจและนโยบายด้านสภาพอากาศจากภาครัฐ ประชาสังคม และเอกชน ในขับเคลื่อนประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลให้เกิดการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลบนฐานของสิทธิของประชาชน และส่งเสริมกฎระเบียบที่คุ้มครองประชาชนทุกกลุ่มด้วย
จากการใช้กรอบธรรมาภิบาลมาขับเคลื่อนประเด็นภาวะโลกร้อนนั้น ส่งผลให้หลายประเทศได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและภาคประชาสังคมในการออกมาตรการระดับชาติ เช่น ประเทศอาร์เจนตินา ได้เกิดการรวมตัวของภาคประชาสังคม และองค์กรในประเทศเกือบ 50 องค์กร ร่วมผลักดันคำประกาศว่าด้วยภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency Declaration) ฉบับแรกของประเทศและภูมิภาค ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนมาตรการฯ อย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และคำประกาศนี้ก็เป็นฐานที่สำคัญในการนับสู่การออกกฎหมายทางด้านภาวะโลกร้อนฉบับแรกของประเทศ
ในประเทศโบลิเวีย องค์กร UNICEF ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมภายในประเทศ ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและเยาวชนในการร่วมกันวิเคราะห์ช่องโหว่แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทำให้พบว่าแผนปฏิบัติการฯ ขาดตัวชี้วัดเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วม รวมไปถึงยุทธศาสตร์ที่ไม่ได้คำนึงถึงความเปราะบางจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนของประชากรกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อแก้ไขแผนต่อไป นี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าเมื่อนำเอาหลักธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมันมีประโยชน์ในการสร้างมาตรการที่มีความยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม และสะท้อนให้เห็นว่าหลักธรรมาภิบาลนั้นช่วยหนุนเสริมกำลังของภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลกได้
กลับมาที่ประเทศไทยของเรา ก็มีการขับเคลื่อนมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และป้องกันภาวะโลกร้อนบนฐานธรรมาภิบาล ผ่านยุทธศาสตร์การดำเนินงานในแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 คำถามคือ เราได้นำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นกรอบในมาตรการเหล่านี้ด้วยมากแค่ไหน
เรื่องนี้องค์การสหประชาชาติเคยได้ประเมินและให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า หนึ่ง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งเสริมการมีส่วนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่การออกแบบมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้มาตรการนั้นสะท้อนความเปราะบางของคนทุกกลุ่มจริง และสร้างความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ และ สอง ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งในการตรวจสอบและติดตาม และตามโปร่งใสในการดำเนินงานตามแผนฯ และยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และที่สำคัญเกิดความคุ้มค่าสูงสุด เห็นแบบนี้แล้ว ผู้รับผิดชอบก็ควรจะได้รับไปพิจารณาเพิ่มเติมบ้าง
สุดท้ายนี้ผู้เขียนมองว่า หลักธรรมาภิบาลเป็นกรอบที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายได้จริง หากรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และการมีการตรวจสอบและติดตามนโยบายที่จริงจัง ผู้เขียนเองก็หวังว่า ปัญหาสภาวะโลกร้อนจะไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ และเราจะยังสามารถรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ไปยังคนรุ่นต่อไปได้
เจริญ สู้ทุกทิศ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี