ปีการศึกษานี้หลายโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ได้มีการเปิดเทอมรูปแบบออนไซต์ตามคำประกาศของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว หลังจากเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เป็นหลัก อันเนื่องมาจากการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
เวลาผ่านไปเกือบ 3 เดือน ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณครู และนักเรียน เกี่ยวกับสภาพการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงานในช่วงการเรียนรู้ปกติใหม่ (New Normal) ที่เริ่มขึ้นหลังจากเปิดเทอมที่ผ่านมา
พบว่า ส่วนใหญ่นักเรียนก็จะรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาเรียนกับเพื่อนๆ และคุณครูในห้องเรียนแบบตัวเป็นๆ ไม่ใช่ผ่านหน้าจอคอมพ์อีกต่อไป และคุณครูก็รู้สึกยินดีที่ได้สอนในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยนักเรียน มีการโต้ตอบกัน และได้มองเห็นสีหน้าของนักเรียนทุกคนช่วยให้ผ่อนคลายความเหงาจากช่วงที่สอนออนไลน์ได้เป็นอย่างมากอย่างไรก็ตามจากที่ได้พูดคุยก็พบว่าไม่ได้มีข้อดีเพียงอย่างเดียว ยังมีประเด็นปัญหาบางอย่างที่น่าสนใจ และต้องเร่งแก้ไขก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้เขียนขอสรุปเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
1.ปัญหาภาวะความเครียดที่เพิ่งสูงขึ้นของนักเรียน
พบว่านักเรียนมีภาวะความเครียดที่สูงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภาระงาน และการบ้านที่เยอะมากขึ้น ทั้งนี้ผู้เขียนได้ลองสอบถามกับคุณครูถึงสาเหตุที่ทำไมภาระงาน และการบ้าน เยอะขึ้น ทั้งๆ ที่กลับมาเรียนออนไซต์แล้ว โดยคุณครูให้ข้อมูลว่าเนื่องจากในช่วงที่นักเรียนเรียนออนไลน์อาจจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ทางโรงเรียนจึงกังวลว่าผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนอาจจะลดต่ำลงซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียนเอง และการประเมินคุณภาพสถานศึกษาของโรงเรียน จึงเป็นเหตุจำเป็นที่คุณครูจะต้องให้ภาระงาน และการบ้าน เยอะขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะและสั่งสมความรู้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามวิธีการให้การบ้านในปริมาณที่เยอะอาจไม่ส่งผลประโยชน์ต่อนักเรียนมากนัก โดยจากบทความเรื่อง How Has the Pandemic Changed the Way Educators Think About Homework ? โดย Daniael Lempres (2022) ได้มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติของกลุ่มนักเรียนตัวอย่างพบว่าในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักเรียนใช้เวลาเฉลี่ย 2.7 ชั่วโมงต่อวัน ในการทำการบ้าน และช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักเรียนใช้เวลาเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 3 ชั่วโมงต่อวัน ในการทำการบ้าน ซึ่งส่งผลให้ 40% ของกลุ่มนักเรียนตัวอย่างมีอาการอ่อนเพลียจากการพักผ่อนน้อยลง และเกือบทั้งหมดมีภาวะความเครียดต่อการเรียนมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าปริมาณของการบ้านที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของนักเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญ
2.ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมการเรียนที่ไม่พร้อม
พบว่าทั้งคุณครู และนักเรียนต่างพูดถึงประเด็นปัญหานี้ โดยอาจเป็นปัญหาในลักษณะอุปกรณ์ในห้องเรียนไม่พร้อมใช้งาน เช่น จอโปรเจคเตอร์ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีสาเหตุมาจากที่ไม่ได้ใช้งานมานานในช่วงเรียนออนไลน์และไม่มีการตรวจสอบคุณภาพก่อนเปิดเทอม เรื่องของสัญญาณอินเตอร์เนตในโรงเรียนที่ช้า ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบอยู่เป็นประจำตั้งแต่ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีบางเครื่องที่ไม่สามารถใช้งานได้ และไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงที่กลับมาเป็นออนไซต์ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
นอกจากนั้นช่วงที่ผ่านมาหากผู้อ่านท่านใดได้อ่านข่าวก็จะพบกรณีลักษณะนี้เช่นกัน อย่างกรณีของโรงเรียนบางปะกอกฯ ที่นักเรียนออกมาประท้วง สาเหตุจากที่โรงเรียนเปิดเรียนทั้งๆ ที่ การก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารของผู้รับเหมายังไม่เรียบร้อย โต๊ะและห้องเรียนยังไม่ได้ทำความสะอาด แอร์ที่เพิ่งจัดซื้อมาใหม่ก็ยังไม่ได้มีการติดตั้ง และโรงอาหารที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงจึงไม่มีพื้นที่เพียงพอให้นักเรียนนั่งรับประทานอาหาร จากประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่น่าตั้งคำถามเป็นอย่างยิ่งว่า ทางโรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีกระบวนการอย่างไรในการตรวจสอบ ติดตามและบริหารจัดการกับผู้รับเหมา และนักเรียนเองจะมีส่วนร่วมในการเฝ้าติดตามหรือแจ้งเบาะแสปัญหาสิ่งเหล่านี้ได้ผ่านช่องทางไหนบ้างนอกเหนือจากการต้องออกมาประท้วง เพราะโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เป็นสำคัญหากสภาพโรงเรียนไม่เรียบร้อย หรือขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ยากที่จะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพ
3.ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบช่วงโควิดแต่ยังกลับมาไม่ได้
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ และถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลลำดับต้นๆ คือ ปัญหาที่เด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบ
การศึกษาในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา จากการสอบถามเพื่อนคุณครูได้ให้สาเหตุมาว่าบางกลุ่มเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์เรียนออนไลน์ และบางกลุ่มสภาพที่บ้านไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนส่งผลให้เด็กกลุ่มเหล่านี้ถูกหลุดออกจากระบบการเรียนไปโดยปริยาย ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนก็ยังไม่สามารถที่จะติดตามกลุ่มเด็กเหล่านี้กลับมาได้เนื่องจากไม่สามารถติดต่อได้ หรือบางกลุ่มเมื่อหลุดออกจากระบบไปแล้ว ตนเองไปทำอาชีพหรือช่วยงานที่บ้านเพื่อหารายได้ให้กับตนเอง และครอบครัวจึงไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะกลับไปศึกษาอีกต่อไป
โดยจากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่าในช่วงปีการศึกษา 2564 มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน และในช่วงเดือนมกราคม 2565 สามารถตามกลับมาได้ประมาณ 120,000 คน ซึ่งยังเหลืออีกประมาณ 110,000 คน ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งตัวของนักเรียนที่หลุดออกจากระบบไปในแง่ของการไม่ได้รับองค์ความรู้ที่เหมาะสมตามช่วงวัย และใช้สำหรับการต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคต และส่งผลกระทบต่อประเทศชาติที่ทำให้ขาดพลเมืองที่มีคุณภาพ และองค์ความรู้ในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในอนาคต
จากประเด็นปัญหาดังกล่าวที่ผู้เขียนได้นำเสนอล้วนเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงในช่วงระยะเวลาอันสั้น และไม่ใช่
เพียงแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ แต่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของ หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่สามารถนำมาเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการมีส่วนร่วม (Participatory) มาใช้แก้ไขในปัญหาภาวะความเครียดของนักเรียน ผ่านการร่วมมือกันระหว่างครู โรงเรียน และผู้ปกครอง ในการให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพจิตใจของผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยแห่งการเรียนรู้ให้กับนักเรียน และปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบช่วงโควิดแต่ยังกลับมาไม่ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวผู้ปกครอง โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนมีความสำคัญในการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาเด็กที่หลุดจากการศึกษา ทั้งนี้ผู้เขียนเล็งเห็นถึงการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ และสามารถติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหลักความโปร่งใส (Transparency) มาใช้แก้ไขในปัญหาด้านสภาพแวดล้อมการเรียนไม่พร้อม โดยทางโรงเรียนควรที่จะเปิดเผย
ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ระยะเวลา และผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุง การพัฒนาอาคารเรียน หรือการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนต่างๆ อย่างเปิดเผย ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าไปตรวจสอบและติดตามได้ รวมทั้งโรงเรียนควรเปิดช่องทางให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลปัญหา หรือความต้องการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ
ท้ายที่สุดปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นอาจเป็นแค่บางส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดเทอมรูปแบบออนไซต์ อาจมีบางปัญหาที่ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอ หรือกำลังที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากให้ผู้อ่าน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ของนักเรียน และคุณครูโดยตรง และผู้เขียนเชื่อมั่นว่าหากปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อาจจะส่งผลให้การเรียนรู้ในช่วงปกติใหม่แต่เด็กนักเรียนอาจจะไม่ปกติอีกต่อไป ก็เป็นได้
ภัทรชัย อ่อนน่วม HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี