หัวใจของระบบทุนนิยมคือการแข่งขัน
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหลายกลุ่มมีความเชื่อว่า ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์จะนำมาซึ่งการสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมโดยรวม ดังนั้นแล้วรัฐจงอย่าเข้าไปแทรกแซงและปล่อยให้กลไกตลาดทำงานต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคมโดยรวม เพราะหากปล่อยให้ตลาดผูกขาดแล้ว ย่อมส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบการแข่งขันเลย
การที่มนุษย์ชื่นชอบการแข่งขันนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อตัวของระบบทุนนิยม แต่เกิดขึ้นนานแล้ว พร้อมกับความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ เช่น การก่อสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร การให้ผู้ชนะการแข่งขันเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าการแข่งขันเริ่มจากเพื่อใช้ในคัดสรรผู้จัดสรรทรัพยากร โดยที่ผู้ชนะจะได้รับความเชื่อถือมากกว่าและสามารถจัดสรรทรัพยากร
อย่างไรก็ตาม ทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมกลุ่มนี้ที่ให้ความสำคัญกับหลักการของตลาดเสรีและการจำกัดอำนาจของรัฐ กลับถูกโต้แย้งโดย คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ผู้เขียนหนังสือ Das Kapitalที่นำเสนอว่าทัศนะดังกล่าวเป็นเพียงนิทานยูโทเปียของอดัม สมิธ (Adam Smith) เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงกลไกตลาดหรือมือที่มองไม่เห็นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ดังเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นกับ Google Microsoft และ Amazon ว่าเป็นภาวะที่ผิดเพี้ยนออกจากดุลยภาพในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์
ทัศนะดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย กฎหมาย และการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการผูกขาดซึ่งมีหน้าที่ในการเน้นย้ำว่าการผูกขาดเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ในสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีเท็ดดี้ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ที่มีคำสั่งให้ทำลายการผูกขาดของบริษัท AT&T ในด้านโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา โดยที่แนวคิดของอดัม สมิธ (Adam Smith) ได้แนะนำให้รัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อป้องกันการขูดรีดราคาเกินจริง ดังนั้นเป้าหมายของนโยบายสาธารณะที่ประกาศเป็นทางการก็คือป้องกันการตั้งราคาแบบผูกขาดและเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมผลิตภาพเพิ่มขึ้นและราคาต่ำลง โดยทั้งหมดนี้มักอ้างว่าเป็นสิ่งที่จะได้จากการแข่งขันระหว่างนายทุน และการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อรักษาบรรยากาศของการแข่งขันมักถูกหยิบยกเป็นจุดยืนเชิงนโยบายที่สำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (David Harvey, 2014) ดังนั้นการแข่งขันในตลาดจึงเต็มไปด้วยอคติ อำนาจผูกขาด และไม่ได้สะท้อนถึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนหรือสังคมโดยรวม แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นการตอกย้ำการแบ่งชนชั้นที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนมั่งคั่งและมีอำนาจ
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจในไทยมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมาก ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับตรึงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงไป จึงส่งผลให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาทเป็นระลอกๆ จนในที่สุดก็ไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทและประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด จนนำไปสู่การปิดกิจการของสถาบันการเงินราว 56 แห่ง
กระบวนการสะสางหนี้ของรัฐบาลเริ่มจากมาตรการแทรกแซงของรัฐบาลทั้งเพิ่มทุนระงับการดำเนินกิจการ และปิดกิจการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 จากบริษัทเงินทุนที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการ 58 ราย มีเพียงสองรายที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการต่อ และส่งผลต่อความเสียหายไปยังผู้ฝากเงินแต่เนื่องจากทางการได้ประกันผู้ฝากเงินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ย่อมหมายความว่า ในที่สุดความเสียหายมหาศาลของภาคเอกชนก็ได้ถูกส่งต่อมาเป็นหนี้สาธารณะและเป็นภาระของผู้เสียภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อรักษาบรรยากาศของการแข่งขัน ดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นการตอกย้ำการแบ่งชนชั้นที่เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มที่มีความมั่งคั่งและมีอำนาจในสังคมเพียงเท่านั้น
ระบบทุนนิยมไทย
เพื่อให้เข้าใจกระบวนการสะสมทุนของกลุ่มทุนในประเทศไทย จำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะของระบบทุนนิยมในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่อิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและเครือข่ายอุปถัมภ์ เช่น ในงานศึกษาของ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ได้เสนอว่าระบบทุนนิยมในประเทศไทยนั้นได้รับมรดกตกทอดมาจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์หรือทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ที่มีธนาคารเป็นศูนย์กลาง โดยมีทหาร และเทคโนแครตเป็นพันธมิตรที่คอยเกื้อหนุน อิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเมืองเป็นหลักโดยมีลักษณะเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ แต่ก็มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ อยู่ (Doner and Ramsay, 1997) หลักการนี้จึงกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ทุนนิยมไทยสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2540
ต่อมาในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544-2549) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนมีการเปลี่ยนแปลงจาก “ระบบอุปถัมภ์แบบแข่งขัน” (Competitive Clientelism) มาสู่ “ระบบอุปถัมภ์กึ่งผูกขาด” (Monopolistic Clientelism) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองและเป็นรัฐบาลโดยตรง กรุยทางสู่โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนแบบใหม่ที่มีแนวโน้มในการรวมศูนย์มากขึ้น จนทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ทุนรอบนอกที่เข้าไม่ถึงอำนาจรวมศูนย์นี้
ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พบว่ามีการจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐที่ประกอบไปด้วย นายทหารยศสูง ข้าราชการระดับสูง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อส่งเสริมบริษัทขนาดเล็ก SMEs ด้วยการช่วยเหลือในด้านการตลาด เทคโนโลยี และการเงิน แลกกับการลดภาษีได้เพิ่มขึ้น (The Nation, 2 April 2016) โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้จะประหยัดเงินได้มากกว่าร้อยล้านบาท แถมยังสามารถสร้างชื่อเสียงด้วยการเข้าร่วมโครงการประชารัฐรักสามัคคีโดยไม่ต้องไปลงทุนในการทำกิจการเพื่อสังคม (CSR) (Wasamon, 2016) แนวทางการจัดการเศรษฐกิจในช่วงหลังการรัฐประหารนี้แสดงให้เห็นความพยายามสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นช่วงชั้นมากขึ้น เพราะแทนที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซง หรือเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น แต่รัฐกำลังสนับสนุนให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีบทบาทในการเป็น “พี่เลี้ยง” และ “ดูแล” วิสาหกิจท้องถิ่นในธุรกิจเดียวกับตนโดยตรง สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่งานวิชาการหลายชิ้นมองว่าเป็นกลไกช่วยสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและการแข่งขันในประเทศได้ดี (Acemoglu and Robinson, 2012) เช่น การลดการผูกขาด การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม กลับหายไปจากนโยบายสาธารณะโดยสิ้นเชิง
ระบบทุนนิยมไทยได้พัฒนารูปแบบให้มีลักษณะเฉพาะที่อิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและเครือข่ายอุปถัมภ์คู่ขนานไปกับการสร้างอำนาจผูกขาดในทางเศรษฐกิจกับอำนาจผูกขาดในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างแยบยลภายใต้ระบบทุนนิยมแบบรัฐชี้นำ ที่หมายถึงรัฐเป็นผู้เลือกผู้ชนะและคนในสังคมก็คาดหวังและมองโลกในแง่ดีกับผู้ชนะเหล่านั้นว่าเอกชนรายใหญ่จะช่วยเหลือสังคม (สฤณี อาชวานันทกุล, 2560)
ปัญหาคอร์รัปชันอยู่ตรงไหนในระบบทุนนิยมไทย
มาถึงตรงนี้แล้วทุกท่านคงพอจะเห็นว่าอำนาจผูกขาดมิใช่แค่ความผิดเพี้ยนแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจาก “การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” (Rent seeking) ดังเช่นที่ โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph E.Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวไว้ว่า “มีวิธีรวยสองวิธี วิธีแรกคือสร้างความมั่งคั่ง ส่วนวิธีที่สองคือฉกชิงความมั่งคั่งจากผู้อื่น ซึ่งวิธีที่สองนี้มักเริ่มต้นขึ้นจากการเอาเปรียบสังคม เพราะในกระบวนการฉกชิงนั้นความมั่งคั่งก็ถูกทำลายไปด้วย”ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” (Rent seeking) จึงเป็นการตีสำนวนให้สุภาพแต่จริงๆ แล้วมักจะมีความหมายเช่นเดียวกับ “การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง” (Accumulation by dispossession) (David Harvey, 2014) นั่นเอง
การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือการสะสมทุนด้วยการปล้นชิงตามแนวคิดของโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) อธิบายถึงความเป็นคู่ขนานของอำนาจผูกขาดในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับอำนาจผูกขาดในกระบวนการทางการเมืองหรือการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย เช่น การได้มาหรือการให้เช่าทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชนในราคาถูก การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองหรือให้ทุนอุดหนุนกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม การซื้ออิทธิพลทางการเมืองด้วยการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิธีการทางการเมืองที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์สามารถผูกขาดทำอะไรตามใจชอบในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ปล้นเงินภาษีของประชาชน และยังมีวิธีปฏิบัติที่ฉ้อฉลในการกอบโกยกำไรด้วยวิธีการกึ่งถูกกฎหมาย เช่น ค่าธรรมเนียมซ่อนเร้น รวมถึงวิธีปฏิบัติที่หมิ่นเหม่หรือถึงขั้นฝ่าฝืนกฎหมาย
นอกจากนี้ในหนังสือความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม (Seventeen Contradictions and the End of Capitalism) ของ เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่าการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือการสะสมทุนด้วยการปล้นชิงนั้นยังเป็นการทำลายสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยในโครงการต่างๆ ที่รัฐให้ทุนอุดหนุน เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจที่มีต่อเงินบำเหน็จบำนาญและการดูแลสุขภาพ รวมถึงการเข้าถึงบริการสำคัญๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การศึกษา อีกด้วย ดังนั้นหากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นในสังคมใดสังคมหนึ่งนั้นย่อมมีสาเหตุสำคัญที่มาจากการที่ระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นมีการผูกขาดที่สูง เพราะย่อมทำให้กลุ่มทุนสามารถแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent seeking) เพื่อแย่งชิงกำไรส่วนเกินดังกล่าวที่มีอยู่จำนวนมากพร้อมกับความพร้อมในการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อรักษาอำนาจในการผูกขาดดังกล่าวไว้
การคอร์รัปชันกับระบบทุนนิยมไทย
เมื่อการทำงานของระบบทุนนิยมเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดการผูกขาดด้วยการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือการสะสมทุนด้วยการปล้นชิงความมั่งคั่งของสังคมโดยรวมมาไว้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หรือชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งในสังคม ในความหมายนี้จึงมีความสัมพันธ์กับคำว่า “การคอร์รัปชัน” หรือการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น
ในประเทศไทยเรามักจะเห็นการผูกขาดเป็นเรื่องปกติแต่มีความเห็นเกี่ยวกับการคอร์รัปชันว่าเป็นเรื่องเลวร้าย และตั้งหน้าตั้งตาในการทำสงครามกับการคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่านายทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะเป็นนักผูกขาดมากกว่าการแข่งขัน และเมื่อการทำงานของระบบทุนนิยมเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดการผูกขาดแล้วนั้น ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นภาพความขัดแย้งนี้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่เราควรให้ความสำคัญต่อจากนี้ของปัญหาการคอร์รัปชันในระบบทุนนิยมไทย คือควรต้องพิจารณาใหม่ว่าระบบทุนนิยมไทย และการคอร์รัปชัน เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้นเพื่อให้สอดรับกับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ การเป็น “พลเมืองตื่นรู้” หรือ Active Citizen เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันตรวจสอบ ดูแล การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน เช่น ติดตามนโยบาย โครงการ และกฎหมายที่เอื้อให้เกิดประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผ่านเครื่องมืออย่าง ACT AI ในการป้องกันและช่วยกันเป็นหูเป็นตากระบวนการฉกชิงความมั่งคั่งจากสังคมไปอยู่ในกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง
เบญจมาศ เป็งเรือน HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี