“โลกคือละคร ทุกตอนต้องแสดง ทุกคนทนไป อย่าอาลัย ยิ้มกันสู้ไปจะได้สบาย”
หลายๆ คนคงเคยได้ยินเนื้อเพลงนี้จากเพลง สุขกันเถอะเรา ขับร้องโดยสุนทราภรณ์ ซึ่งหากฟังเผินๆ แล้ว เนื้อเพลงข้างต้นอาจดูเหมือนประโยคที่ช่วยปลอบประโลมและให้กำลังใจแก่ผู้ฟังอย่างดี แต่หากลองมองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์และรัฐพัฒนาการแล้ว เนื้อเพลงเหล่านี้อาจมีความหมายและจุดประสงค์ที่ต่างออกไปอย่างมาก โดยเพลงนี้ถูกประพันธ์ขึ้นราวปีพ.ศ. 2504 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง “แบบไทยๆ” ที่มีรูปแบบของพัฒนาการที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น รัฐเสนานุภาพ เผด็จการประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งทุนนิยมเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นนิยามที่นักวิชาการนักวิจัย หรือผู้อยู่ในแวดวงการเมืองใช้อธิบายรูปแบบของรัฐพัฒนาการ “แบบไทยๆ” แต่อีกนิยามหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงนี้เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั่นก็คือ“รัฐนาฏกรรม” หรือแนวคิดโรงละครแห่งรัฐ
รัฐนาฏกรรม (Theatre State หรือ Theatrical State) เป็นแนวคิดที่อยู่ในหนังสือ Negara : The Theatre state in Nineteenth-century Bali เขียนโดย Clifford Geertz นักมานุษยวิทยา ชาวอเมริกัน ที่ได้ให้คำจำกัดความและอธิบายรูปแบบทางการเมืองในบาหลีโบราณ ประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีลักษณะรัฐที่เป็นไปในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันภายใต้บริบทที่แตกต่างกันออกไป โดยศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “รัฐนาฏกรรม คือการแสดงของรัฐที่ก่อให้เกิดโลกภายนอกที่มนุษย์เราสัมผัสได้ เพื่อให้มีผลกระทบต่อโลกภายในหรือการรับรู้และความรู้สึกของประชาชน” กล่าวคือการแสดงของรัฐนั้นก่อให้เกิดแบบแผนหรือขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝังลึกไปถึงจิตใต้สำนึกของประชาชนให้มีความรู้สึกนึกคิดไปในรูปแบบเดียวกับที่รัฐ “กำลังแสดง” ให้เห็น อย่างไรก็ตามความหมายดังกล่าวเป็นเพียงภาพรวมของแนวคิดนี้ แต่ยังมีส่วนประกอบอีกหลายส่วนที่เราต้องรู้จักเพื่อเข้าใจความเป็นรัฐนาฏกรรม “แบบไทยๆ” ให้ได้อย่างแท้จริง
ความเป็นรัฐนาฏกรรมแบบไทยๆ นั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ 1. เจ้าของโรงละคร หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด 2. ผู้กำกับ หรือขุนนางชนชั้นปกครองทั้งหลายที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้รัฐเป็นไปตามประสงค์ของผู้ปกครอง 3. ตัวแสดง หรือข้าราชการระดับต่างๆที่ต้องแสดงให้อยู่ในกรอบที่ชนชั้นปกครองวางไว้ และ 4. ผู้ชม หรือประชาชน คนทั่วไปที่ต้องรับชมการแสดงนี้ตั้งแต่ต้น บางส่วนอาจได้มีส่วนร่วมในการแสดง และบางส่วนอาจไม่ได้มีส่วนร่วม หากแต่เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ เพราะการแสดงที่ขาดผู้ชม “ที่ดี” ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้ง 4 ส่วนนี้ต่างเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นผ่าน “รัฐพิธี” ที่แฝงอยู่ในสังคมจนเข้าไปจิตใต้สำนึกของประชาชนจำนวนมากให้นึกคิดถึงรัฐพิธีโดยธรรมชาติ
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างการเดินทางไปทำงานในสถานที่ต่างๆ ของรัฐที่มักจะมีรูปแบบที่ซ้ำเดิมอยู่เสมอ คือการเดินทางด้วยรถหรู มีรถของผู้ช่วยหรือผู้ติดตามนำหน้าและห้อยท้าย การจัดตั้งสถานที่เพื่อรองรับเจ้าหน้าที่รัฐ
และการต้อนรับอย่างเต็มใจจากประชาชนที่เป็นทั้งตัวประกอบและผู้ชมที่สนับสนุนให้การกระทำในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดแปลกหรือไม่ควร ซึ่งหากดูเพียงผิวเผิน อาจทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้สนับสนุนและสร้างวัฒนธรรมเช่นนี้ให้สืบต่อไป แต่หากลองมองให้ลึกลงไปก็จะพบว่า การกระทำเช่นนี้ถูกสืบต่อมาอย่างช้านาน โดยผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นคนกำหนดให้สิ่งนี้เกิดขึ้นผ่านการกำกับโดยชนชั้นปกครองที่ได้ประโยชน์จากการกระทำเช่นนี้ในหลายๆ ด้าน แล้วการมีผู้ควบคุมให้รัฐดำเนินไปโดยมีส่วนประกอบของโรงละครแห่งรัฐมันก็ “คงจะดี” ไม่ใช่หรอ
หลายคนคงได้เห็นหรือได้ยินเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผ่านมาอันเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนจำนวนมากอย่างรุนแรง หากแต่รัฐยังคงดำเนินการให้เกิดโรงละครแห่งรัฐขึ้น โดยการสร้างรัฐพิธีเพื่อแสดงความเสียใจและมอบเงินให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอื่นๆ ซึ่งถ้าผู้อ่านนั้นอาจจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่การสร้างโรงละครเพียงเพื่อทำตาม “สิ่งที่ทำสืบต่อกันมา” ในสถานการณ์ที่ผู้ได้รับผลกระทบยังอยู่ในภาวะความเสียใจจากการสูญเสียคนที่รัก การพบเห็นเหตุการณ์อันโหดร้าย
หรือแม้กระทั่งความรู้สึกผิดหรือคับแค้นใจ และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วนนั้นเป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือในฐานะผู้ปกครอง ภาพการแสดงในโรงละครแห่งรัฐที่ “ตัวประกอบ” หรือ “ผู้ชม” อย่างประชาชนต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงภายใต้ความรู้สึกอันหนักอึ้งภายในจิตใจซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ การแสดงในครั้งนี้จะยังถือว่าเป็นการแสดงที่ประสบความสำเร็จหรือสมควรอยู่หรือไม่ ผมเองก็ไม่อาจตอบแทนทุกคนได้เช่นกัน หากแต่ประสงค์ให้ทุกคนได้ลองมองภาพของพิธีการต่างๆ ในสังคมภายใต้แนวคิดรัฐนาฏกรรมที่อาจทำให้คุณได้มองเห็นเรื่องที่ “เคยชิน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไป
สุดท้ายนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงยกเนื้อเพลงข้างต้นมาเริ่มบทความนี้ เพียงแค่ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า แนวคิดรัฐนาฏกรรมหรือโรงละครแห่งรัฐนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจุดประสงค์ในด้านต่างๆ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งค่อยๆ ฝังความคิดแห่งรัฐลงไปในจิตใต้สำนึกของเราจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมันจะดีหรือไม่ดี ผมอาจไม่สามารถพูดมันได้เต็มปาก แต่หากพิจารณาหลักฐานอันเด่นชัดในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ผู้คนจำนวนมากต่างวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีเช่นนี้ในแนวทางที่ต่างกันออกไป ในอนาคตอีกไม่นาน พวกเราก็อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจาก “ตัวประกอบ” ในโรงละครแห่งรัฐซึ่งกล้าที่จะลุกขึ้นยืนเดินออกจากโรงละคร หรือตะโกนเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนต่อการแสดงที่รัฐทำมาอย่างช้านาน เพราะโลกอาจไม่ใช่ละครที่ทุกคนจะต้องแสดง และฝืนทนยิ้มในโรงละครที่ตนไม่ได้ต้องการ
วสุพล ยอดเกตุ HAND Social Enterprises
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี