หากพูดถึงประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในวงการสื่อไทยช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องของการนำเสนอข้อมูลของสื่อมักจะเน้นไปที่การแข่งขันในตลาดและผลกำไรมากกว่าความสร้างสรรค์ของเนื้อหา ความรับผิดชอบ หรือประโยชน์ที่ผู้เสพจะได้รับ จนประชาชนเริ่มเกิดคำถามต่อจรรยาบรรณของสื่อไทย
คำว่า จรรยาบรรณ หากไปดูนิยามศัพท์ตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดไว้ว่า “ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิกอาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้” หรือแปลง่ายๆ ตามความเข้าใจผู้เขียนคือ หลักการในการประกอบอาชีพ ที่คนในแวดวงอาชีพนั้นเห็นตรงกันว่าควรปฏิบัติตาม
จรรยาบรรณสื่อไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์ หรือกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ สื่อหลายสำนักก็มีการนำเสนอจรรยาบรรณแตกต่างกันออกไปโดยมีรากฐานจากข้อบังคับด้านจริยธรรมของสื่อตามมาตรา 42 พ.ศ. 2551 ได้แก่
1. ความเที่ยงตรง เป็นกลาง เป็นธรรม 2. ความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน 3. การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล 4. การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำอันผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม อบายมุข และภาษาอันหยาบคาย 5. การปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก 6. การจ่ายเงินแก่แหล่งข่าว การรับรางวัลหรือผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้เสนอข่าว หรือมีส่วนร่วม ในการกระทำใดอันกระทำให้ขาดความเป็นธรรมและความเป็นอิสระของวิชาชีพ 7. การปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ดีแม้จะมีหลักปฏิบัติเป็นกรอบให้ แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นพฤติกรรมดังกล่าวปรากฏให้เห็นในหน้าข่าวอยู่เป็นประจำ
ในต่างประเทศก็มีกรณีของจรรยาบรรณสื่อให้ศึกษา กรณีดังระดับโลกอย่าง The News of the World สำนักข่าวเก่าแก่ชื่อดังในอังกฤษซึ่งเวลานั้นที่แม้จะมีอายุมานาน แต่ก็บกพร่องเรื่องของจรรยาบรรณสื่อ สำนักข่าวนี้มักจะใช้วิธีการหาข้อมูลข่าวโดยการดักฟังจากโทรศัพท์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่และใช้คอนเน็กชัน จนในปี พ.ศ. 2554 The News of the World ถูกพบว่าได้แฮกโทรศัพท์เข้าไปเพื่อให้ได้ข้อมูล Voice Mail ของเด็กหญิงอายุ 13 ขณะที่เธอถูกลักพาตัวก่อนจะถูกฆาตกรรม เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนชาวอังกฤษทนไม่ไหว จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ ส่งผลให้ The News of the World ที่มีอายุกว่า 168 ปี ต้องปิดตัวลง
หากย้อนกลับไปมองสื่อไทยก่อนจะมี Social Media พบว่าสื่อก็พอจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้างไม่ได้มากเหมือนในปัจจุบัน เท่าที่ผู้เขียนจำได้จุดเริ่มต้นที่จรรยาบรรณของสื่อเริ่มถูกพูดถึงเป็นวงกว้างจริงๆ เกิดขึ้นในคดีโศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราช พ.ศ. 2563 ที่ตอนนั้นสื่อหลายสำนักเน้นการนำเสนอเพื่อดึงยอดการรับชมด้วยการสร้างเนื้อหาที่แตกต่างและทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการรีบเข้าถึงญาติของเหยื่อโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึก การทำกราฟิกที่สมจริงเพื่อนำเสนอภาพความรุนแรง แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือการรายงานตำแหน่งของเหยื่อ จนลืมตระหนักถึงความปลอดภัย เป็นที่มาของการติดแฮชแท็ก #สื่อไร้จรรยาบรรณ ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ทำให้สุดท้ายสื่อหลายสำนักก็ต้องรีบออกมาขอโทษขอโพย
นับตั้งแต่นั้นมาสื่อไทยก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมาเรื่อยๆ ไม่ว่าเรื่องการขาดการนำเสนอเชิงสร้างสรรค์ เช่น ตามติดชีวิตลุงพล ผู้ต้องสงสัยจากคดีฆาตกรรมมาลงหน้าสื่อจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เรื่องของการนำเสนออย่างไม่คัดกรองจนเกิดความสับสน เช่น กรณีของการเสียชีวิตของนักแสดงชื่อดัง แตงโม-นิดา
อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์กราดยิงที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในมุมมองผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่าสื่อเริ่มมีการระมัดระวังมากขึ้น มีการช่วยกันแชร์ข้อควรระวังในการนำเสนอ แต่ก็ยังมีบางสื่อบางสำนักที่ยังพยายามเรียกยอดการรับชมจากความสูญเสียของญาติพี่น้องของเหยื่อ แม้จะมีสื่อที่ดีมากเท่าไหร่แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ยังมีสื่อบางกลุ่มที่ยังไม่ตระหนักถึงจรรยาบรรณในหน้าที่ของตน ยิ่งปัจจุบันที่มีสื่อเกิดใหม่ขึ้นมามากมายภายใต้ช่องทางนำเสนอที่เปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์ สื่อไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นองค์กรหรือต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเหมือนสมัยก่อนแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามสามารถที่จะเป็นสื่อได้ ข้อดีคือการทำให้ผู้เสพมีทางเลือกมากขึ้นไม่เกิดการผูกขาดในการรับสื่อ แต่นั่นก็ทำให้การคัดกรองยากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงของข่าวที่นำเสนอหรือจรรยาบรรณของผู้นำเสนอข่าว
ถ้าจะพูดกันตามตรงแน่นอนว่าการทำสื่อเป็นเอกชนและเป็นธุรกิจที่ต้องการกำไร จึงจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อให้มาซึ่งข้อมูลที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่อย่างไรผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยและคิดว่าทุกท่านก็คงไม่เห็นด้วยหากจะยึดผลกำไรมาก่อนจรรยาบรรณ ผู้เขียนจึงคิดว่าสื่อควรนำธรรมาภิบาลมาใช้ในองค์กร
ธรรมาภิบาลเป็นหลักการบริหารที่ดีที่จะให้องค์กรมีประสิทธิภาพและมีกรอบในการปฏิบัติทำตามหน้าที่ที่ชัดเจน โดยผู้เขียนเห็นว่ามี 3 หลักสำคัญได้แก่ 1. หลักความรับผิดชอบ เพราะทุกการกระทำ ทุกการนำเสนอของสื่อย่อมมีผลที่ตามมา สื่อควรคำนึงงานที่ทำว่าได้ให้ประโยชน์อะไรกับสังคมหรือทำไปแล้วจะมีใครเดือดร้อนหรือไม่ หากินกับการสูญเสียหรือความทุกข์ของผู้อื่นหรือไม่ ความรับผิดชอบของสื่อคือการนึกถึงสิ่งเหล่านี้ก่อนจะเริ่มลงมือทำหรือนำเสนอ 2. หลักนิติธรรม แม้ว่าตามกฎหมาย มาตรา 34 คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนทั่วไป และมาตรา 35 เสรีภาพในการนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน จะได้รองรับสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอสื่อ แต่อย่างไรในการทำของสื่อก็ต้องไม่ไปละเมิดกฎหมายอื่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างกฎหมาย มาตรา 40 ที่สื่อมีโอกาสถูกเรียกค่าเสียหายหากมีผู้ร้องเรียนว่าสื่อรายงานข่าวให้ได้รับความเสียหาย ให้ความเท็จหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือในกรณีเหตุการณ์เกิดขึ้นในโคราชที่สื่อได้บอกพิกัดของเหยื่อในเหตุการณ์ มีโอกาสผิดกฎหมายมาตรา 420 ฐาน ประมาทเลินเล่อส่งผลให้ผู้อื่นอาจถึงแก่ชีวิต ดังนั้นการเป็นสื่อจึงควรปฏิบัติตามหลักกฎหมายเพื่อไม่ให้ไปหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและตนเอง และ 3. หลักการมีส่วนร่วม ในเรื่องของการมีส่วนร่วมจากประชาชน เราคงเห็นกันอยู่แล้วว่าทุกวันนี้ประชาชนแทบจะตรวจสอบสื่อแบบแทบจะทุกย่างก้าว ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่สื่อเพราะถ้าหากประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบ ให้ข้อคิดเห็นมากมาย แต่สื่อกลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขเพื่อพัฒนาให้รูปแบบการนำเสนอดีขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนคงไร้ความหมาย
ในมุมมองผู้เขียนคิดว่าเรื่องจรรยาบรรณเป็นข้อผิดพลาดที่อาจทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงที่ต้องพึงระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองก็นับว่าตัวเองเป็นสื่อคนหนึ่งจึงต้องระวังอยู่เสมอโดยยึดจากหลักของธรรมาภิบาล ที่ผู้เขียนคิดว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นสื่อองค์กรหรือสื่อภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือการทำมาร์เก็ตติ้ง ผู้เขียนเชื่อว่าหากยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลแล้ว อนาคตสื่อไทยจะกลายเป็นสื่อที่สร้างสรรค์และให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านได้อย่างแน่นอน ตัวอย่างที่ล้มเหลวก็มีให้เห็นทั้งในต่างประเทศและในไทย หากเห็นแล้วยังนิ่งดูดายไม่แก้ไข อนาคตความเชื่อใจของคนที่มีต่อสื่อไทยคงลดลง และหมดความน่าเชื่อถือในที่สุด
สุรวัฒน์ เดวา HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี