“ครูบาอาจารย์” เปรียบเสมือน “เรือจ้าง” ในอุดมคติที่ปลูกฝังหยั่งรากลึกลงจิตใจให้สังคมไทยมาอย่างช้านาน แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สิ่งใดที่ทำให้เรือจ้างบางลำกลับกลายเป็น “เรือล่ม” จนลบล้างคุณค่าและความศรัทธาของความเป็นครูลง
ถ้าทุกท่านได้ติดตามข่าวสารในกระแสช่วงนี้ คงจะได้เห็นความน่าผิดหวังของแวดวงวิชาการผ่านสื่อต่างๆ พอสมควร จากการที่มีผู้เกี่ยวข้องในวงการงานวิจัยตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของชื่อนักวิชาการไทยที่ปรากฏบนผลงานตีพิมพ์ต่างประเทศ โดยมีผู้ร่วมงานวิจัยท่านอื่นๆ เป็นชาวต่างชาติและต่างสาขาวิชา ซึ่งดูจะมีความเป็นไปได้น้อยที่เขาเหล่านั้นจะสามารถมาระดมพลังกันสร้างสรรค์งานวิจัยขึ้นมา รวมถึงยังมีความผิดปกติของนักวิชาการที่ผลิตผลงานวิจัยกว่า 100 เล่ม ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี แปลว่านักวิชาการที่มีศักยภาพอัจฉริยะเฉียบแหลมผู้นั้นต้องใช้เวลาในการผลิตงานวิจัยเฉลี่ยเล่มละ 3-4 วัน จนแทบไม่มีเวลาเหลือให้หยุดพักผ่อนซึ่งบรรดานักวิชาการที่ถูกอ้างถึงในข่าวยังมีบางท่านที่ดำรงตำแหน่งเป็น “อาจารย์ในมหาวิทยาลัย” อีกด้วย
เมื่อหลักฐานความผิดปกติเหล่านี้ถูกเปิดเผยบนโลกโซเชียลเพียงข้ามคืน จึงทำให้สังคมเห็นว่าแวดวงวิชาการยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับการคิดค้นงานวิจัยอีกต่อไป เพียงแค่เข้าเว็บไซต์เลือกงานวิจัยที่ตนเองอยากมีชื่ออยู่ในนั้น และกดซื้อลำดับผู้ผลิตงานวิจัยตามใจชอบ ก็จะทำให้ชื่อของตนเองปรากฏบนเล่มงานวิจัยพร้อมตีพิมพ์ จึงเป็นขั้นตอนที่อำนวยความสะดวกให้กับนักวิชาการมากกว่าการเดินเลือกซื้อสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตเสียอีก เมื่อสังคมเห็นถึงปัญหาที่ลดทอนความน่าเชื่อถือในแวดวงวิชาการ และส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา รวมถึงสถาบันวิชาการอีกหลายแห่ง จึงได้มีนักวิชาการมากมายทั่วประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุของการทุจริตซื้อขายบทความงานวิจัยในครั้งนี้
สาเหตุประการแรกมาจากความต้องการพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพของทุกสายงาน คือ ความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ไม่ว่าจะเป็นชื่อตำแหน่งทางวิชาการหรือเงินเดือน เนื่องจากการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองและสถาบันในสังกัดเป็นสิ่งสำคัญที่เสมือนเป็นใบเบิกทางสู่เส้นทางอาชีพ ซึ่งตำแหน่งทางวิชาการที่นำหน้าชื่อของอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นสิ่งที่ถูกใช้บ่งบอกถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น และสะท้อนถึงลำดับขั้นเงินเดือนที่แตกต่างกันของคณาจารย์ด้วย หากยกตัวอย่างตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการและค่าตอบแทนทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ พ.ศ. 2560 จะเห็นว่าตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง 5,600 บาท/เดือน ตำแหน่งรองศาสตราจารย์จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง 9,900 บาท/เดือน และตำแหน่งศาสตราจารย์จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง 15,600 บาท/เดือน
ข้อกำหนดของการขอยื่นตำแหน่งทางวิชาการ จึงเป็นสาเหตุประการที่สองที่ขีดเส้นให้เหล่าคณาจารย์จำเป็นต้องมีทั้งประสบการณ์สอนและผลิตงานวิจัย เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติในการขอรับดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้จำเป็นต้องสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในระดับสากลจึงจะเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการได้รับพิจารณาในตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น นอกจากการเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทองค์ความรู้ให้แก่ลูกศิษย์แล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะนักวิชาการก็ต้องผลิตผลงานวิจัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพราะเส้นทางการเติบโตของอาชีพอาจารย์ไม่ได้ถูกวัดผลเพียงแค่การพิจารณาตัวชี้วัดของการสอนเท่านั้น ฉะนั้นด้วยขอบเขตความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้อาจารย์บางท่านเลือกใช้ช่องทางที่เป็นการทุจริต เพื่อเป็นทางลัดในการผ่อนแรงให้ภาระหน้าที่ของตนเองเบาลง
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น ยังสามารถนำไปใช้เพื่อยื่นขอตีพิมพ์งานวิจัยลงในวารสารของสถาบันต่างประเทศได้ ถ้าถูกตีพิมพ์บนวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงก็จะได้รับการพิจารณารับทุนจากมหาวิทยาลัยที่ตนเองอยู่ภายใต้สังกัด เพื่อให้นำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยต่อไป ซึ่งนักวิชาการบางท่านยังเลือกใช้วิธีนี้เป็นการถอนทุนคืนจากการลงทุนซื้องานวิจัยราคาแพงบนเว็บไซต์อีกด้วย สาเหตุประการที่สามนี้จึงเป็นเสมือนช่องทางที่ช่วยสร้างคุณประโยชน์ให้กับทั้งตัวนักวิชาการ รวมถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย แม้จะไม่ใช่หนทางที่ขาวสะอาดก็ตาม
สาเหตุประการสุดท้ายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานในการพัฒนาของแวดวงวิชาการอันบิดเบี้ยวที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน คือ การให้คุณค่ากับสถาบันการศึกษาว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพจากการตัดสินผ่านการจัดอันดับมหาวิทยาลัย เช่น เกณฑ์การจัดอันดับของ Times Higher Education World University Rankings (THE) โดย Times Higher Education Supplement องค์กรการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ ที่ให้สัดส่วนตัวชี้วัดด้านการผลิตงานวิจัย (Article) 30% รวมถึงด้านการอ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย (Citation) อีก 30% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ให้น้ำหนักตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยสูงถึง 60%ในขณะที่ตัวชี้วัดด้านการสอนมีน้ำหนักเพียง 30% นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การจัดอันดับจาก University Ranking by Academic Performance (URAP) โดย Informatics Institute of Middle East Technical University ประเทศตุรเคีย ที่เน้นกำหนดคุณภาพ และปริมาณของผลงานทางวิชาการเป็นหลัก ผ่านตัวชี้วัดเกี่ยวกับหัวข้อทางงานวิจัย บทความวิชาการ รวมถึงการถูกใช้งานวิจัยในการอ้างอิงผลงานต่างๆ ซึ่งหลากหลายเกณฑ์ที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยมักจะเป็นมาตรวัดคุณภาพมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญไปที่สัดส่วนของประสิทธิภาพการเรียนการสอนเลย จึงเป็นเหตุให้สถาบันก็จำเป็นต้องผลักดันให้คณาจารย์ผลิตงานวิจัย เพื่อสร้างชื่อเสียงและแข่งขันกันในตลาดการศึกษา
อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาได้ปรากฏขึ้นให้สังคมได้ร่วมกันวิเคราะห์และถกเถียงถึงแนวทางการแก้ไข แต่สถาบันที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดแนวทางป้องกันการทุจริตในการซื้อขายงานวิจัยให้เป็นนโยบายอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงขอแนะนำการใช้หลักแนวคิดธรรมาภิบาลมาเป็นกรอบในการประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นหลักการที่จะช่วยส่งเสริมความโปร่งใส และความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการภายในองค์กร รวมถึงสถาบันการวิจัย และสถาบันการศึกษา ด้วยหลักคุณธรรม (Morality) ส่งเสริมให้บุคลากรการศึกษายึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตต่อการปฏิบัติหน้าที่ และประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ถูกที่ควรให้กับสังคม รวมถึงหลักความโปร่งใส (Transparency) ที่สถาบันจะต้องมีมาตรการตรวจสอบผลงานวิจัยของบุคลากรในสังกัด ด้วยการเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบให้เป็นระบบชัดเจน และหลักความรับผิดชอบ (Responsibility) ที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติของสถาบัน เพื่อป้องกันการทุจริตในการผลิตผลงานวิจัย และเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้บุคลากรไม่กระทำความประพฤติอันมิชอบอีก ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในแวดวงวิชาการได้ธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ
ด้วยสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความกดดันในความก้าวหน้าของสายอาชีพนักวิชาการและอาจารย์ ซึ่งนำมาสู่การหาหนทางลัดที่อำนวยความสะดวก และสร้างความสะดวกสบายให้ตนเองได้เติบโตในหน้าที่การงานอย่างง่ายดายขึ้น แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุประการใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สังคมจะสามารถยินยอม หรือรับได้กับความประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ถึงแม้ขณะนี้ปัญหากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่กระบวนการหารือและแก้ไขร่วมกันระหว่างนักวิชาการ คณาจารย์ และสถาบัน แต่ด้วยมุมมองของบทบาทหน้าที่การเป็นผู้สั่งสอนสิ่งที่เป็นคุณงามความดีให้กับศิษย์ด้วยแล้ว ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่าภาพสะท้อนของสถานการณ์อันผิดจริยธรรมนี้มีโอกาสที่จะหล่อหลอมความคิดและทัศนคติอันไม่ถูกไม่ควรให้กับสังคมต่อไป
ท้ายที่สุดผู้เขียนจึงขอทิ้งคำถาม เพื่อย้ำทวนเข้าไปในจิตใจของจรรยาบรรณความเป็นแม่พิมพ์แห่งชาติว่า “ครูบาอาจารย์ที่ควรมีบทบาทเป็นผู้สั่งสอนศิษย์ให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพของสังคม แต่กลับกลายเป็นตัวอย่างพฤติกรรมการทุจริตเสียเอง ถ้าสังคมมีครูบาอาจารย์เช่นนี้ จะนำพาอนาคตของชาติให้เติบโตไปในทิศทางใด”
สลิลภรณ์ ผดุงพัฒน์ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี