เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ตั้งแต่เช้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. มีการเตรียมจัดโต๊ะแถลงข่าวใหญ่เพื่อรอฟังและอธิบายผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันหรือ Corruption Perception Index (CPI)ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TransparencyInternational: TI) ประกาศว่าจะเปิดผลคะแนนพร้อมกันทั่วโลกในเวลาเที่ยงคืนของสหรัฐอเมริกา หรือ เที่ยงตรงของไทย
เลยเที่ยงตรงไปเล็กน้อยเว็บไซต์ขององค์กร TI ก็เปลี่ยนหน้าใหม่ แจ้งว่าผลคะแนนออกแล้ว และทันทีที่ผลออก เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งรออยู่ที่โต๊ะแถลงข่าวอยู่แล้ว ก็เริ่มอธิบายผลโดยละเอียด และชี้แจงว่า ประเทศไทยได้รับคะแนนดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 คะแนน โดยปีนี้ได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และได้อันดับดีขึ้นเป็น 101 จากเดิม 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ และเขตปกครองทั่วโลก
คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า สรุปนี้คือข่าวดีใช่ไหม คอร์รัปชันประเทศไทยลดลงแล้วจริงหรือ เพราะมันดูจะขัดแย้งกับสายตาประชาชนที่เห็นข่าวการคอร์รัปชันอยู่แทบจะทุกวัน บทความนี้จึงขอมาเจาะลึกรายละเอียดผลคะแนนที่ดูเหมือนจะ
ดีขึ้นนี้ดู
การที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงคะแนนเดียว และยังคงรั้งกลุ่มท้ายตาราง อยู่ในตำแหน่งหลักร้อยที่ลำดับ 101 จาก 180 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกนั่น ดูไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศร่วมหมู่บ้านอาเซียนอย่างเวียดนามที่ได้ผลคะแนน 42 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 77 ตอกย้ำว่าระดับการคอร์รัปชันของไทยในสายตาคนนอกยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น มีผลกระทบต่อภาพ
รวมด้านเศรษฐกิจ การตัดสินใจในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในไทยของนักลงทุนต่างชาติ จึงเป็นโจทย์ที่ต้องมาทบทวนกันว่าภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทยที่ยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น สะท้อนผ่านคะแนนที่น้อยไม่เคยแตะครึ่งหนึ่งจากเต็มร้อยสักที เป็นเพราะเรายังพยายามกันไม่มากพอหรือพยายามอย่างมากแต่ไม่ตรงจุด
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามแก้ปัญหาการคอร์รัปชันอย่างแข็งขันมาโดยตลอดทั้งจากความตั้งใจของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยภาครัฐได้มีการออกกฎหมายร่วมกับกำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด เช่น การประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 เพื่อเพิ่มบทลงโทษให้กับนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้-รับสินบน การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ส่วนในภาคเอกชนเองก็แสดงออกถึงความตั้งใจที่จะต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังด้วยการจับมือกันประกาศเจตจำนงไม่ยอมต่อการจ่ายสินบนและตระหนักถึงการบริหารกิจการด้วยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ผ่านการจัดตั้งแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC)
ภาคประชาสังคมเองก็ร่วมกันลงแรงทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไม่หยุดยั้งด้วยการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อมาช่วยกันแก้ปัญหาคอร์รัปชันผ่านวิธีการที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาเครื่องมือสู้โกงด้วยข้อมูลเปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ACT Ai องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณในโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั่วประเทศ หรือการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน และเพจ ต้องแฉ ที่ช่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่นร่วมกับการทำงานของกลุ่ม Strong: จิตพอเพียงต้านทุจริต ในการช่วยติดตาม ตรวจสอบ ตลอดจนร่วมให้เบาะแสการทุจริตภายในหน่วยงานรัฐ
นอกเหนือจากดัชนี CPI ยังมีอีกดัชนีหนึ่งที่น่าสนใจคือดัชนีคาดการณ์ความเสี่ยงคอร์รัปชัน หรือ Corruption Risk Forecast (CRF) โดยศูนย์องค์กรเอกชนนานาชาติ (Center for International Private Enterprise: CIPE) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนปี 2565 ซึ่งเผยแพร่คะแนนของ 120 ประเทศจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น การบังคับใช้ระเบียบ กฎหมาย และความโปร่งใสของแต่ละประเทศ
โดยผลของดัชนีนี้ชี้ไปในทิศทางใกล้เคียงกับ CPI ว่าคอร์รัปชันในประเทศไทยมีความรุนแรง แต่ที่น่าสนใจคือ ดัชนีนี้ชี้ลึกไปถึงปัญหาว่าอยู่ที่ภาครัฐขาดการตรวจสอบดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ช่วยฉุดรั้งคะแนนแนวโน้มความเสี่ยงคอร์รัปชันของประเทศไม่ให้เลวร้ายจนเกินไป คือความตื่นตัวของภาคประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคม เช่น ชาวเนต (E-citizenship) ที่ร่วมกันจับตามองหรือตั้งคำถามถึงการทำงานที่ส่อเค้าคอร์รัปชันของภาครัฐ
ผลนี้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะจาก Transparency International (2023) ผู้จัดทำดัชนี CPI ว่าภาครัฐไทยส่งเสริมภาคประชาชนด้วยการ “เสริม 2 ลด 1” โดยเสริมแรกคือ การเสริมทรัพยากรและอำนาจหน้าที่ในการถ่วงดุลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยการดึงให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ และเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสการทุจริตได้ทั่วถึงในหลายพื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินงานอยู่แล้วและภาครัฐสามารถเข้าไปสร้างความร่วมมือได้เลย เช่น โครงการจับตาไม่ให้ใครโกง (Corruption Watch) หรือโครงการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันของเพจต้องแฉและโครงการหมาเฝ้าบ้าน เป็นต้น
เสริมที่สองคือ การเสริมความโปร่งใสด้วยการเปิดข้อมูลให้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลการจัดสรรงบประมาณหรือการใช้จ่ายของภาครัฐ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและเข้าใจได้ง่ายมากที่สุด ปัจจุบันมีโครงการเครื่องมือ
สู้โกงภาคประชาชน ACT Ai ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากที่หน่วยงานภาครัฐสามารถร่วมจับมือพัฒนาข้อมูลเปิดได้ทันที โดยในอนาคตอันใกล้แพลตฟอร์ม ACT Ai กำลังอยู่ในขั้นพัฒนาให้เป็นแหล่งรวมข้อมูลเปิดที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทำงานภาครัฐที่ครบวงจรของกระบวนการประชาชนตื่นรู้สู้โกงมากที่สุดของประเทศ
แนวทางสุดท้ายคือ ลด 1 หมายถึงการลดอิทธิพลขององค์กรภาคเอกชนและบริษัทในการล็อบบี้เชิงนโยบายให้น้อยลง โดยการบังคับใช้กฎระเบียบด้านผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มงวดและเคร่งขัด ซึ่งปัจจุบันภาคประชาสังคมและเอกชนนำโดย WeVis ร่วมมือกับ HAND social enterprise และบริษัท Creden ได้ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้อมูลธุรกิจและการถือหุ้น และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลของผู้แทนของตนเอง เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนได้เลยทันทีด้วยการเปิดและเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นในการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการดำรงตำแหน่ง
ท้ายที่สุดแล้วแม้ในหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของทุกภาคส่วนในการลดระดับปัญหาคอร์รัปชันของไทยอาจยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน แต่เรายังพอจะมีความหวังในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้ หากภาครัฐไหวตัวทันและพยายามกันอีกต่อไปด้วยการสนับสนุนและเสริมพลังให้กับภาคประชาชน และภาคเอกชนอย่างเต็มที่
ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี