ปัจจุบันทุกอย่างหมุนรอบตัวเราอย่างรวดเร็วเราทุกคนต่างพยายามแข่งขันกับเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไปที่ก็เร็วไม่แพ้กัน กอปรกับเทรนด์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ที่ต้องฟังพอดคาสต์หลายๆ ตอน และการตั้งเป้าหมายในแต่ละปีอย่าง New Year Resolution เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ก็มักให้ความสำคัญกับความมีผลิตภาพที่สูง (Productiveness) เช่น เราจะต้องมีสุขภาพที่ดีขึ้น เราจะต้องเรียนให้เก่งขึ้น หาเงินให้ได้มากขึ้น รวมไปถึงเราจะทำงานให้มากขึ้นพร้อมกับวลีประจำใจว่า“ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนัก” หรือ “งานหนักไม่เคยทำใครตาย” ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และความรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่สามารถจัดการงานหรือทำกิจกรรมจำนวนให้สำเร็จมากที่สุดในเวลาที่จำกัดได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น่าสลดใจอย่างการเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานของพนักงานด้านสื่อของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความตกใจให้กับสังคม และเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต กับดักของคำว่าการสร้างผลิตภาพสูงหรือความมีผลิตภาพ และการได้รับภาระงานที่มากจนเกินไปของพนักงานเงินเดือน ว่าเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภาระงานที่ไม่ดีขององค์กรหรือไม่ หรือเกี่ยวกับการจัดการสวัสดิการของพนักงาน ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้งสองปัจจัย หรือ ปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ หนึ่งปัจจัยที่ผู้เขียนมองว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญคือ องค์กรขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate governance) หรือธรรมาภิบาล ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) หรือ การตายเพราะทำงานหนักของพนักงานในองค์กร
ก่อนอื่นเลยผู้เขียนขออธิบายการภาวะโรคคาโรชิซินโดรม เป็นภาวะการเสียชีวิตของพนักงานหรือคนทั่วไปทำงานหนักมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด โดยการเสียชีวิตเกิดจากปัจจัยหลักสองประการด้วยกันคือ การเสียชีวิตจากเป็นโรคที่มีสาเหตุที่เกิดจากการทำงานหนัก หรือ การเสียชีวิตจากความเครียดสะสม ซึ่งล้วนมาจากการทำงานที่มากจนเกินไป โดยจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี ค.ศ. 2016 พบว่า พนักงานทั่วโลกเกือบ 8 แสนคนเสียชีวิตจากหัวใจวายและโลกหัวใจอื่นๆ ในขณะเดียวกัน การสำรวจก็ยืนยันว่าการทำงานหนักจนเกินไปสอดคล้องกับสุขภาพที่เสียด้วย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของพนักงานที่ทำงานด้านสื่อได้เป็นอย่างดี ซึ่งเขามักมีการบ่นถึงภาระงานที่มากจนเกินไป การละเมิดสิทธิของพนักงานโดยการให้ทำงานถึงพนักงานจะใช้สิทธิ์ลาป่วย และการบริหารจัดการโครงสร้างพนักงานที่ไม่มีผลิตภาพขององค์กร เป็นต้น ส่งผลให้เขาต้องรับภาระงานมากจนเกินไป จะเห็นได้ว่าภาวะโรคคาโรชิ ซินโดรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขาดการบริหารจัดการที่คำนึงถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
การกำกับกิจการที่ดีนั้นมาพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเริ่มต้นนั้น หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กรภาคเอกชนนั้นให้ความสำคัญกับการสร้างความมีผลิตภาพขององค์กรในการสร้างผลผลิตทางกำไรเพียงเท่านั้น แต่ในภายหลังหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้นถูกนำมาใช้ในองค์กรเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพนักงาน และสร้างความสมดุลในสภาพแวดล้อมการทำงานและการใช้ชีวิตของพนักงานด้วยเช่นเดียวกัน
การศึกษาของ Sukdeo, Lynch, Zulu และ Govender ในปี ค.ศ. 2017 พบว่าการศึกษามากกว่า 300 ชิ้น สนับสนุนว่า
หลักบริหารจัดการที่สามารถสร้างพึงพอใจต่องานของพนักงานและมีส่วนช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เช่น การมีนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายภายในองค์กรของตนเอง และกำหนดรูปแบบการทำงานของตนเอง การมีกลไกสำรวจภาระหน้าที่ที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละเพศ เป็นต้น ในขณะเดียว การศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2019 ก็สนับสนุนหลักการข้างต้นและระบุว่า การกำกับกิจการที่ดีก็เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่เป็นธรรมของพนักงานด้วย เช่น การคุ้มครองสิทธิพนักงานในการลาป่วยตามหลักนิติธรรม หรือการสร้างการมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานในการแสดงความคิดเห็น หรือรับฟังข้อเสนอแนะ โดยองค์กรที่ดีจะต้องขยายขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า แนวทางการกำกับกิจการที่ดีเพื่อเสริมสร้างความมีผลิตภาพของพนักงานในการผลิตงานที่มีคุณภาพ ไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และการสร้างความสุขของพนักงานทุกคนด้วย ซึ่งนอกจากจะสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกให้กับบรรยากาศและวัฒนธรรมขององค์กรแล้ว งานศึกษาหลายๆ ชิ้นก็ช่วยยืนยันด้วยเช่นเดียวกันว่าความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานช่วยสร้างผลิตภาพการทำงานของพนักงาน (Performance) ซึ่งส่งผลให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกให้กับองค์กรด้วยเช่นเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่า คุณภาพชีวิตของพนักงานที่ดี และคุณภาพงานที่ดีก็ต้องพึ่งพาการมีการบริหารจัดการในองค์กรที่ดีด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานโดยยึดเอาหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตัวอย่างบริษัท Adobe ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นที่ 1 จากทั้งหมด 70,000 บริษัทในสหรัฐอเมริกาโดย Comparably ซึ่งเคล็ดลับการบริหารองค์กรของ Adobe ให้พนักงานมีความสุขจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังเช่น
หลักนิติธรรม บริษัทมีนโยบายการจ่ายค่าจ้างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ หรือ เชื้อชาติของพนักงานในองค์กร แนวปฏิบัติดังกล่าวจึงสะท้อนให้แสดงให้ถึงความยุติธรรมของการบริหาร นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น โรคโควิด-19 บริษัทก็มีมาตรการให้การช่วยเหลือในส่วนที่ได้รับผลกระทบ หลักการข้อนี้สามารถนำไปประยุกต์กับการให้ความคุ้มครองพนักงานเรื่องสิทธิการลางาน สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และสิทธิในการใช้สิทธิลาพักร้อนเมื่อพนักงานมีความไม่สบายใจ หรือมีความเจ็บป่วยทางกาย
หลักคุณธรรม บริษัทให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเป็นธรรม เช่น ประเด็นเลือกการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานจากปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรืออายุ รวมไปถึงความเป็นธรรมในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งงานพนักงานที่อยู่บนพื้นฐานของหลักความสามารถด้วย
หลักการมีส่วนร่วม บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นอย่างมาก โดยบริษัท Adobe เชื่อว่าการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานได้ บริษัท จึงมีการชวนให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาต่างๆ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย โดยหลักการข้อนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการจัดสรรแนวทางการทำงานที่มีผลิตภาพสำหรับทุกคน รวมไปถึงการร่วมกันพูดถึงสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับพนักงาน
หลักความรับผิดชอบ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงานเป็นอย่างมาก และมักมีมาตรการชดเชยให้กับพนักงานในมิติของคุณภาพชีวิตการทำงานที่สมดุลด้วย หลักปฏิบัติข้อนี้จึงเป็นแนวปฏิบัติที่มีความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวของพนักงานในทุกระดับ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านก็คงนึกภาพตามออกแล้วว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กรมันเป็นอย่างไร และในช่วงยุคที่ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนนั้นต่างกับดักกับความมีผลิตภาพ จนลืมไปว่าความสมดุลของชีวิตและความเป็นธรรมในความเป็นพนักงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากเราจะตั้งเป้าหมายในแต่ละปีว่าเราจะทำงานหนักมากขึ้น ก็อย่าลืมว่าสุขภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน เมื่อพวกเราใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่ทำงาน ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ก็อย่าลืมที่จะตั้งคำถามกับบ้านหลังนี้ของทุกคนด้วยว่าโครงสร้างของบ้านหลังนี้ มันแข็งแรงเพียงพอหรือยัง มันช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเราได้หรือไม่ อย่างน้อยก็อาจจะนำเสนอหลักกำกับกิจการที่ดีในที่ทำงานของคุณ ซึ่งผู้เขียนมองว่าจะเป็นตัวช่วยทำให้บ้านหลังนี้น่าอยู่มากขึ้นไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ หลักกำกับดูแลกิจการที่ดีไม่ใช่ยารักษาทุกโรค การเปลี่ยนแปลงองค์กรจะต้องอาศัยการขับเคลื่อนของผู้บริหาร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และพนักงานทุกคน รวมถึงตัวคุณเองด้วย และสุดท้ายนี้ผู้เขียนก็หวังว่าจะไม่มีใครต้องตายเพราะการทำงานหนักอีกต่อไป
เจริญ สู้ทุกทิศ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี