ทำนุบำรุงวัฒนธรรม (Preserve Culture) ส่วนหนึ่งก็เพื่อดำรงอัตลักษณ์และคุณค่าการดำเนินวิถีชีวิตสืบต่อไป ทั้งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมโดยเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ปรัชญา ธรรมชาติ วัฒนธรรมจึงได้จัดระเบียบวิถีชีวิตให้เกิดสำนึกร่วมต่อตนเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
แต่เมื่อรัฐตีความ “วัฒนธรรม” แตกต่างออกไป วัฒนธรรมจึงกลายเป็นมรดกหรือสิ่งของขึ้นหิ้ง ต้องดำรงอนุรักษ์เอาไว้ (Conservation) ซึ่งดูเหมือนว่าการอนุรักษ์ไว้จะมีข้อห้ามหลายอย่างจนกลายเป็นวัฒนธรรมแช่แข็ง กอปรด้วยรัฐพยายามมองวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ วัฒนธรรมในมุมมองของรัฐจึงหมายถึงการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ หรือ ศูนย์การเรียนรู้ที่นอกจากสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติด้วย
อาจกล่าวได้ว่า ทั้งการมีตัวตนอยู่ของชนชาติและการมีสำนึกความเจริญร่วมกัน คือความเข้าใจของรัฐที่พยายามเข้าไปจัดการการมีอยู่ของวัฒนธรรมแบบองค์รวม ความเข้าใจนี้เองจึงทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นบางอย่างหล่นหายไป เช่น เครื่องดนตรีท้องถิ่น เรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน ความเชื่อท้องถิ่น ซึ่งในบางวิสัยได้เหมารวมไปกับความงมงาย หรือ ชาติพันธุ์วรรณนาที่ต่างออกไปจากกลุ่มหลัก
หากย้อนดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะไว้ว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น” และมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาดูแลรักษาวัฒนธรรมที่จับต้องได้เท่านั้น ได้แก่ โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ส่วนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้เป็นดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด
ความเข้าใจนี้เองจึงทำให้รัฐพยายามจัดสรรงบประมาณโดยให้น้ำหนักไปที่สิ่งปลูกสร้าง สิ่งที่สามารถจับต้องได้ หรือการพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ศูนย์โอท็อปที่ไม่ได้ให้ผู้คนมาขายของและก่อตั้งขึ้นมาก่อนการพัฒนาสินค้าติดตลาด พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ปล่อยร้าง ละลายน้ำไปกับงบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาท ศูนย์การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นที่ซอมซ่อ ทั้งข้อมูลไม่ทันสมัย สิ่งปลูกสร้างไม่ได้มาตรฐาน หรือสิ่งแสดงไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้คนในชุมชน ตลอดจนการอนุรักษ์อัตลักษณ์คอยาวของชาวกะยันให้เป็นจุดเด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
แล้วรูปแบบการจัดการวัฒนธรรมของรัฐทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มุ่งหวังว่าการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ลดอำนาจส่วนกลาง คืนอำนาจการบริหารจัดการแก่ประชาชน ส่วนหนึ่งก็เพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลจากรัฐส่วนกลาง อีกส่วนหนึ่งเพราะเล็งเห็นว่าปัญหาภายในท้องถิ่นจะถูกแก้ไขได้ตรงจุดและรวดเร็วกว่า อันเนื่องจากการมอบบทบาทหน้าที่แก่ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามาแก้ไขหรือร่วมพัฒนาท้องถิ่น เสริมความเข้มแข็งแก่ประชาชนบนแนวคิดการมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ
แต่จากงานศึกษาอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดการวัฒนธรรม (ปคุณา กลมกลึง, 2565)
เขียนไว้ว่าพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีขอบเขตกำหนดคำว่า “บำรุงรักษา” ไม่ชัดเจน และรัฐเองก็จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรเอกชน เช่น สภาวัฒนธรรมตำบล สังกัดภายใต้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เข้ามาดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยเช่นกัน จึงเกิดความสับสนทั้งบทบาทหน้าที่และอำนาจการตัดสินใจที่ทับซ้อนกัน
ส่วนเรื่องงบประมาณท้องถิ่น รัฐจัดสรรการบำรุงรักษาวัฒนธรรมแบบเป็นรูปธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การเรียนรู้ อยู่ในงบประมาณอุดหนุนของรัฐที่สนับสนุนงานบริการสาธารณะ (สามารถทำความเข้าใจเรื่องงบประมาณท้องถิ่น
ได้ที่ https://projects.punchup.world/localbudgeting แต่ถึงแม้ว่าในแต่ละปี รัฐจะสนับสนุนงบอุดหนุนค่อนข้างมาก แต่ท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างอิสระ เพราะรัฐได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายอย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญไปที่การสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการประชาชน เงินเดือนครูท้องถิ่น เบี้ยเลี้ยงคนพิการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ
การจัดการทางวัฒนธรรมของรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นเพียงยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็ง สร้างค่านิยมอันดีงาม สร้างความสามัคคีของคนภายในชาติ ทั้งเป็นทุนขับเคลื่อนในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต แต่ไม่ได้มีพื้นที่ให้ชุมชนหรือเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทางวัฒนธรรมเหล่านั้นเลย กลับกลายเป็นรัฐได้เข้าไปบริหารจัดการเกือบ 100%
แล้วรัฐสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
ในมุมมองของผู้เขียน เห็นควรว่าการแก้ไขตัวบทกฎหมายทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปลดล็อกงบประมาณท้องถิ่นที่สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างอิสระ และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ 3 ประการ
ประการแรก นิยามบทบาทหน้าที่ของคำว่า “บำรุงรักษา” และกำหนดอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจนและครอบคลุมบริบทในปัจจุบัน กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีบทบาทสำคัญเพื่อร่วมพัฒนาและบำรุงวัฒนธรรม (Preserve Culture) ท้องถิ่นบนความหลากหลายและมีส่วนร่วม กระจายอำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารงานที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากขึ้น
ประการที่สอง เพิ่มขอบเขตในการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นให้เป็นอิสระจากส่วนกลางมากขึ้น จัดสรรการบำรุงรักษาวัฒนธรรมภายใต้บริการสาธารณะให้เป็นงบประมาณที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง มีกำหนดงบประมาณในส่วนพัฒนาหรือฟื้นฟูวัฒนธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมให้เป็นไปตามพื้นที่นั้นๆ โดยดึงเอาประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยออกแบบงบประมาณ และกระบวนการพัฒนาวัฒนธรรมอย่างเป็นพลวัต
ประการสุดท้าย ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดึงเอาความเห็นจากประชาชนหรือชุมชนเข้ามาช่วยออกแบบการจัดการวัฒนธรรม ตลอดจนนำบุคลากรที่มีความเข้าใจด้านการทำนุบำรุงวัฒนธรรม (Preserve Culture) เข้ามาช่วยออกแบบขั้นตอนและโครงสร้างการบริหารจัดการวัฒนธรรมอย่างเข้าใจ ทิ้งความเข้าใจเดิมว่าวัฒนธรรมเป็นมรดกล้ำค่า ควรค่าแก่การเก็บถนอมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ แต่ให้เข้าใจใหม่ว่าวัฒนธรรมคือความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและธรรมชาติ มีส่วนช่วยในการสร้างคุณค่าให้แก่กลุ่มชนสามารถอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย สามารถปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และปรับตัวได้
ส่วนสุดท้ายนี้เองที่จะช่วยให้ลดปัญหาด้านบุคลากรในการบริหารจัดการวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยใช้ศักยภาพจากเจ้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ร่วมออกแบบนโยบาย ตลอดจนรูปแบบการสื่อสาร เพราะถือว่าเจ้าของวัฒนธรรมนั้นย่อมทราบดีอยู่แล้วและเพื่อพัฒนาบนฐานทรัพยากรทั้งคนและพื้นที่อย่างคุ้มค่า
วรรณภณ หอมจันทร์ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี