เพิ่งผ่านพ้นเทศกาลโยกย้ายข้าราชการครูในช่วงต้นปีมาหมาดๆ เทศกาลที่บ่อยครั้งการโยกย้ายมักจะตามมาด้วยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งการใช้เส้นสายเพื่อเข้าไปแทรกแซงการพิจารณาอนุมัติ การเรียกรับผลประโยชน์ในการพิจารณาที่มีข่าวลือว่ามีการเรียกรับเงินจำนวนมาก จนเกิดเป็นวลีเด็ดเมื่อนานมาแล้วว่า “ย้ายครูกิโลละแสน” คือ วัดระยะทางโรงเรียนที่ใหม่ห่างจากที่เก่ากี่กิโลเมตรก็คูณเงินจ่ายกันไป และในเมื่อขั้นตอนการโยกย้ายมีผลประโยชน์แอบแฝงเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงกลายเป็นช่องทางให้คนทุจริตเข้ามาเสนอตัวเป็นกรรมการ หรือบางคนอาจจะยอมลงทุนจ่ายเงินซื้อขายตำแหน่งเข้ามาเป็นกรรมการพิจารณาเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่น่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนที่จ่ายไป ซึ่งปัญหาการทุจริตเหล่านี้มาจากการขาดความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ในขั้นตอนการทำงาน หรืออาจจะเรียกได้ว่าขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลของวงการการศึกษา
แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการจะมีความพยายามในการปฏิรูปขั้นตอนการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการครูไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งการปรับแก้องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือ หรือพิจารณากลั่นกรองงานให้แก่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ในการพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในเขตพื้นที่การศึกษา หรือการคาดโทษหนักกับผู้กระทำผิด เปิดช่องทางแจ้งเบาะแสถึงกระทรวงศึกษาธิการได้โดยตรง แต่ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ และการพิจารณาโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะขั้นตอนการพิจารณาด้วยบุคลากรฝ่ายต่างๆ อาจจะยังไม่สามารถลดการใช้ดุลยพินิจที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้ หรือยังไม่สามารถปิดช่องโหว่ในการเรียกรับผลประโยชน์ในขั้นตอนต่างๆ ได้
ถึงแม้การเรียกรับผลประโยชน์ หรือการทุจริตในขั้นตอนการโยกย้ายครูจะไม่เกิดเป็นข่าวดังในสังคมเท่าไรในช่วงที่ผ่านมา แต่เรียกได้ว่าเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่ามีแน่ในวงการการศึกษา ถึงขั้นที่เพจเฟซบุ๊ก “วันนั้นเมื่อฉันสอน” เพจดังของสังคมครูที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาในอาชีพครูด้านต่างๆ อยู่เสมอ ผุดไอเดียป้องกันการโกงและเรียกรับผลประโยชน์ ด้วยการนำเทคโนโลยีแบบไทยแลนด์ 4.0 มาใช้ และได้นำเสนอผ่านเพจจนเป็นที่สนใจและเฝ้ารอให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้จริง เพราะทนไม่ไหวกับปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งมีขั้นตอนการใช้เทคโนโลยีมาป้องกันการทุจริต ลดการใช้ดุลยพินิจ ดังนี้ สมมุติว่าเมื่อครู “วสุ” ทำเรื่องเขียนย้าย ทำแฟ้มยื่นไปทางเขต โดยในขั้นตอนนี้ชื่อของครูวสุจะต้องถูกเข้ารหัส สมมุติเป็น 111A โดยกุญแจสร้างรหัสจะไม่มีใครรู้นอกจากโปรแกรมของระบบที่ได้ยื่นแฟ้ม (ใช้รหัสแทนชื่อครูผู้ส่งผลงานเข้ามา) เขตมีหน้าที่กรอกคะแนนให้ผู้ขอย้าย “111A” ไม่ใช่ “ครูวสุ”
เพื่อป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ โดยอาจจะมีกรรมการ 3 คน ให้คะแนนตามเอกสารที่แนบมาแล้วนำคะแนนมาเฉลี่ยกัน (โดยกรรมการได้มาจากการสุ่ม) ซึ่งคือการประเมินจากผลงานเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบุคคล เมื่อคะแนนออกมาแล้วจะถูกส่งไปยังเขตปลายทางและเข้ารหัสอีกครั้ง สมมุติเป็น “222B” เขตปลายทางจะไม่รู้ว่า 222B คือใคร แล้วใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผล คะแนนผู้ขอย้ายคนอื่น เช่น 333B 444B เทียบกันว่าใครชนะ หากคะแนนของครู “วสุ” ซึ่งคือรหัส “222B” ชนะ “ได้ย้าย” ให้ระบบแจ้งผลการดำเนินการย้ายให้กับครูวสุทราบผ่านระบบออนไลน์ แล้วให้ครูวสุเดินทางไปยังเขตพื้นที่นั้นแล้วนำ 111A ไปถอดรหัสผ่านโปรแกรมว่าใช่คนเดียวกันกับ 222B หรือไม่ (ยืนยันตัวตน) เขตปลายทางจะรู้จักครูวสุผ่านรหัสเท่านั้น และรู้ชื่อจริงในวันที่ผลย้ายสำเร็จแล้ว
โดยวิธีการนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนการใช้ดุลยพินิจที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการพิจารณา สร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารบุคลากรอย่างแน่นอน ถึงแม้จะเป็นแนวทางที่ถูกนำเสนอจากภาคประชาชนแต่ก็น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการนำไปพัฒนาต่อ ซึ่งปัจจุบันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกัน หรือตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันมีอยู่มากมาย ทั้งระบบการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเว็บ www.ACTAi.co ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เป็นช่องทางให้เกิดการตรวจสอบในประเด็นการส่อทุจริตมาแล้วมากมาย ตั้งแต่ยุคเสาไฟกินรีที่เคยโด่งดังเป็นตำนานเมื่อปี 2564 จนล่าสุดต้นปี 2566 คือเรื่องการจัดซื้อเครื่องเล่นราคาแพงเกินจริงในหลายพื้นที่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปิดช่องทางการแจ้งเบาะแสที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน อย่าง Line Chatbot @Corruptionwatch ของเพจต้องแฉ (Mustshare) ซึ่งช่วยทำให้เกิดการร่วมตรวจสอบ จับตาการทำงาน และแจ้งความผิดปกติที่อาจจะก่อให้เกิดการทุจริต นับเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เมื่อภาคประชาชนส่งเสียง และส่งไอเดียเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะเกิดการนำไปเป็นแนวทางเพื่อพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเพจ “วันนั้นเมื่อฉันสอน” ได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า หากไอเดียนี้ไม่ถูกนำไปพัฒนาเป็นแนวทางเพื่อแก้ปัญหา อาจจะเกิดมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ 1) ยังมีคนที่ได้รับผลประโยชน์จากแบบเดิม 2) ล้าหลังคิดไม่ได้ และ 3) ไม่มีใครเห็นว่ามันเป็นปัญหาเพราะตัวเองไม่ได้ย้าย ผู้เขียนเองยังได้แต่หวังว่าบทความนี้จะเป็นหนึ่งเสียงที่ช่วยส่งต่อไอเดียการใช้เทคโนโลยีจากภาคประชาชนสู่การแก้ไขการเรียกรับผลประโยชน์ และการทุจริตในวงการการศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรที่สร้างบุคลากรที่สำคัญองค์กรหนึ่งของสังคมไทย ให้สามารถสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคลากรได้อย่างโปร่งใสในสักวันหนึ่ง
นันท์วดี แดงอรุณ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี