“มีพนักงานบริษัทคนหนึ่งตอนกลางวันเป็นที่นับหน้าถือตาของลูกค้า ทุกคนในองค์กรต่างไว้ใจแต่พอตกกลางคืนกลับแอบยักยอกขโมยกำไรบริษัทไปใช้จ่ายส่วนตัว ปรนเปรอชีวิตหรูหราให้ตัวเองเรื่อยมา”
คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ไม่พอใจ? โกรธ? หรือคิดว่าถ้าคนส่วนมากพบเห็นการทุจริตจะรีบเข้าไปต่อว่าประจานคนทำไหม?
ทีนี้ก่อนจะตอบคำถาม ผู้เขียนขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเรื่องราวเล็กน้อย…
ถ้าบริษัทที่ผู้เขียนเล่ากลายเป็นวัดแห่งหนึ่งกำไรบริษัทกลายเป็นเงินบริจาค และ “พนักงานบริษัท” กลายเป็น “พระ” แทนล่ะ?
การเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้คำตอบของคุณเปลี่ยนไปจากเดิมไหม? หรือเมื่อมีเรื่องของศาสนา ความศรัทธา และบทบาทในฐานะพระสงฆ์เข้ามาจะทำให้มุมมองเดิมถูกเปลี่ยนแปลง?
สถิติจากศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านศาสนาได้ระบุไว้ว่าคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธถึงร้อยละ 92.52 มีวัดรวมแล้วประมาณ 43,005 แห่งและการบรรจุเรื่องศาสนาพุทธในบทเรียนนับตั้งแต่สมัย ร.5 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและศาสนาพุทธที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระสงฆ์ในฐานะผู้เผยแพร่คำสอน
แต่ถึงอย่างงั้นเราก็มักได้พบเห็นข่าวพระสงฆ์กระทำความผิดขัดกับคำสอนหรือกฎหมายอยู่เรื่อยๆ อย่างกรณีล่าสุด “พระคม-พระหมอ” ที่ร่วมมือกับพรรคพวกยักยอกเงินของวัดรวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท รวมถึงมีพฤติกรรมชอบเสพเมถุนกับทั้งฆราวาสทั้งพระด้วยกัน และอีกเคสของหมอปลาที่ไลฟ์สดแฉ “พระอ๋อย” ที่มีพฤติกรรมชอบให้สีกาเข้ามาหลับนอนในกุฏิ(ใครนึกไม่ออกก็คือพระที่หยิบยางมัดผมมาคาดหัวอ้างว่าแก้ปวดหัวนั่นแหละ) แต่ทั้งสองเคสมีจุดร่วมกันคือทุกครั้งที่มีการเปิดโปงความผิดขึ้น มักจะมีสาวกบางส่วนออกมาร่วมปกป้องเข้าข้างผู้กระทำผิดอยู่เสมอ และบางครั้งคนกลุ่มนี้ยังแสดงให้เห็นว่าพอจะรู้พฤติกรรมการคอร์รัปชันนี้มาโดยตลอด แต่ก็เลือกจะศรัทธากราบไหว้ผู้กระทำผิดอยู่ดี ยังมีแม้แต่สาวกช่วยกันพระผู้กระทำผิดหลบหนีจากการจับกุมเสียด้วยซ้ำสิ่งนี้เกิดจากอะไรกันแน่?
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าศาสนาพุทธถูกซึมลึกอยู่ในเมืองไทยมานาน ผ่านการสร้างภาพจำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” เป็นสิ่งที่อยู่สูงเหนือกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงตัวพระสงฆ์ก็ถูกมองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในโครงการวิจัยพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจแล้วพบว่าคนไทยไม่เพียงมองพระสงฆ์ในฐานะสาวกพระพุทธเจ้า แต่ยังมองว่าเป็นผู้มีความสำคัญในการชี้นำศีลธรรมความดี พัฒนาชุมชน รักษาวัฒนธรรม และสงเคราะห์ผู้คนยามยากอีกด้วย ฉะนั้นการจะวิพากษ์หรือตรวจสอบผู้ที่นุ่งขาวห่มผ้าเหลืองจึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธบางส่วนหวาดกลัวว่าจะเป็นการสร้างบาปให้ตนเอง หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่ากลัว “นรกจะขึ้นหัว” ก็ว่าได้
เมื่อสังคมแปะป้ายมองว่าพระสงฆ์คือตัวแทนความดีมีศีลธรรม ก็ตรงกับแนวคิดของ Edward Lee Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กับทฤษฎี Halo Effect กระบวนการคิดเชิงเทิดทูน เป็นความคิดลำเอียงเชิงอคติด้วยการนำเอารูปลักษณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา สถานะ หรือของสิ่งหนึ่งมาบดบังคุณสมบัติหรือข้อเท็จจริงที่เหลือ เหลือไว้เพียงแต่ “ข้อดี” ที่อยากจะมอง เช่นเดียวกับการที่คนบางกลุ่มเลือกเชื่อว่าบุคคลที่บวชสวมผ้าเหลือง หรือผ้าขาวต้องเป็นคนดีจิตใจบริสุทธิ์อย่างแน่นอน
แล้วหากถลำลึกลงไปอีกจะนำไปสู่ แนวคิด Belief Perseverance คือการเกิดความเชื่อศรัทธาในตัวบุคคลหรือบางอย่างผนึกแน่นอยู่ในหัว แม้จะมีหลักฐานแสดงความผิดต่อหน้า แต่ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองที่บูชาสิ่งนั้นไปแล้ว ซึ่งผู้นำเผด็จการเองก็มักนิยมในการปลูกระดมแนวคิดแบบนี้ให้ประชาชนเคารพเทิดทูนโดยไม่ตั้งคำถาม ฉะนั้นจากแนวคิดอคติลำเอียงและความกลัวผิดบาป จึงอธิบายได้ว่าทำไมเมื่อมีดราม่าในวงการสงฆ์เราจึงพบเห็นสาวกที่ยังศรัทธาพร้อมที่จะช่วยเหลือ ปกปิด หรือเห็นดีเห็นงามด้วยแม้เรื่องนั้นจะเข้าข่ายฉ้อโกงหรือผิดกฎหมายมาตราอื่นๆ ร่วมด้วยก็ตาม
จากปัญหาที่ได้เล่ามาจะพบได้ว่าการกระทำของสาวกเหล่านี้ แม้อาจจะทำไปด้วยจิตศรัทธาด้วยความเข้าใจผิดว่ากำลังทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน แต่ก็กลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการทุจริตในวงการสงฆ์ขึ้น (และยังรวมถึงผิดกฎหมายด้วย) เพื่อเป็นการป้องกันพุทธศาสนิกชนควรตระหนักระลึกถึงคำสอนจากพระพุทธเจ้าให้ดี โดยผู้เขียนได้ขอหยิบคำสอนที่เกี่ยวข้องบางส่วนมาดังนี้
“ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค)
จากประโยคที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวแปลความได้อย่างชัดเจนว่าสำหรับศาสนาพุทธแล้ว ไม่เคยได้สอนให้นับถือบูชาใน “ตัวบุคคล” อย่างเด็ดขาด แม้จะเป็นพระพุทธเจ้าเองก็ตาม แต่ควรยึดถือคำสอนระลึกเอาธรรมะเป็นหลัก และยังรวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ตามในพุทธศาสนสุภาษิต
นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาที เมธาวี ตาทิสํ ปญฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย ฯ
ผู้ฉลาด ควรเห็นว่า ผู้ที่ชี้โทษตักเตือน ในเมื่อเห็นความผิด,
กล่าวปรามให้เว้นความชั่ว, เป็นผู้มีปัญญาดี,นั้นเป็นเสมือน
ผู้บอกขุมทรัพย์ให้ และควรคบบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบอยู่มีแต่ทางดี ไม่มีทางเสียเลย
ในพุทธศาสนสุภาษิตเองพระพุทธเจ้ายังเปรียบผู้ตักเตือนเมื่อเห็นความผิดเป็นดั่งผู้บอกขุมทรัพย์ นั่นรวมไปถึงการตักเตือนพระภิกษุด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการว่ากล่าวตักเตือนพระภิกษุที่ทำผิด จึงไม่ใช่เรื่องผิดบาปอย่างที่เราโดนฝังหัวกันมานาน
เรื่องสุดท้ายที่จะพูดถึงคือเรื่องมุมมองความเชื่อว่าผู้สวมจีวรหรือห่มขาวต้องเป็นคนดีเสมอ ทุกคนต้องอย่าลืมว่าแม้แต่ในพุทธกาลเองยังมี “พระเทวทัต” ผู้ตามจองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้าเรื่อยมา เขาได้กระทำความผิดมากมายทั้ง พูดยุแหย่พระสงฆ์ให้แตกคอ, ยุแยงให้ลูกชายก่อกบฏสังหารบิดา และ พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ความผิดบาปเหล่านี้พระเทวทัตได้ก่อขึ้นในขณะที่มีสถานะออกบวชอยู่ และสุดท้ายตามในเรื่องพระเทวทัตก็ถูกธรณีสูบทั้งที่ยังห่มจีวรเสียด้วยซ้ำ สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดว่าแค่เพียงการออกบวชมาอยู่ใต้ร่มศาสนา ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนดีถูกต้องเสมอไป ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบป้องกันไม่ให้ “มารในคราบผ้าเหลือง” ได้เข้ามากัดกินทำลายศาสนา หากเอาแต่ปล่อยเฉยหลับตากราบไหว้กัน ต่อไปนี้เราคงจะได้เห็นข่าวการทุจริตของพระสงฆ์บั่นทอนความศรัทธาของคนทั่วไปอยู่ตลอดแม้จะเป็นอนาคตข้างหน้าก็ตาม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี