เวลาพูดถึงคำว่า “Rookie” (รุกกี้) แวบแรกเชื่อว่าทุกคนน่าจะนึกถึงกลุ่มเด็กฝึกหัดเกาหลีที่รอเปิดตัวเป็นไอดอล แต่จริงๆ แล้วคำว่า “Rookie” เป็นศัพท์ที่ใช้กันทั่วไปในทุกวงการ เพื่อเรียกกลุ่มคนที่เป็น “มือใหม่”หรือน้องใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนักในแวดวงต่างๆ แต่มีความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่วงการ ซึ่งสอดรับกับรากศัพท์ของคำว่า “Rookie” ที่มาจากภาษาละตินว่า “Crescere” ซึ่งแปลว่า การเติบโตที่คุณต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ดังนั้น คำว่า “Rookie”จึงเป็นคำที่นำมาใช้เพื่อชื่นชมความพยายามของน้องใหม่ เพราะเส้นทางของ “Rookie” ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาฝึกฝนเรียนรู้ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการเต็มตัว
เราจึงเห็นว่า มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สมัครเป็น “Rookie” ในวงการต่างๆ เช่น ค่ายเพลง SMTOWN ที่เปิดค่ายเด็กฝึกหัด ก่อนเปิดตัวเป็นศิลปินเต็มตัว หรือโครงการ Red Bull Rookie ที่เปิดรับเยาวชนมาเตรียมความพร้อมก่อนลงแข่งในสนาม MotoGP ไปจนถึงกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ ที่เปิดโครงการฝึกงาน เช่น LINE Rookie ของบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ได้เรียนรู้การทำงานจริง ซึ่งโปรแกรมฝึกแบบเข้มข้มเหล่านี้จะช่วยให้ “Rookie” ได้พัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด จนสามารถเดบิวต์สู่วงการได้อย่างมืออาชีพนั่นเอง
แล้วคนทั่วไปที่ไม่ได้จะเข้าวงการบันเทิง หรือวงการนักกีฬา จะเป็น “Rookie” กับเขาได้ไหมนะ? คำตอบ คือ เป็นได้ เพราะคนที่เพิ่งเข้ามาฝึกหัดอะไรใหม่ๆ ก็จะถูกเรียกอย่างรู้กันว่าเป็น “Rookies” ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ขอแค่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คุณก็สามารถเป็น “Rookie” ได้ตลอด ว่าแล้วก็ขอชวนทุกคนมาเป็น “Rookies” ในปี 2024 กันดีกว่า แต่ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะเดบิวต์เข้าวงการไหนดี ผู้เขียนขอชวนทุกคนเข้ามาเป็น Rookie ในวงการต้านโกงกัน!
ทำไมถึงชวนเข้าวงการนี้ ก็เพราะเราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชันทั้งนั้น ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน เดินไปเจอทางเท้าที่ชำรุดมาหลายปี ถนนที่เป็นหลุมบ่อ เสาไฟฟ้าสาธารณะที่ดับสนิทมานานหลายปี หรือปรากฏการณ์ “ซ่อม-สร้าง” ประจำปีที่วนลูปไปไม่รู้จบ พอตรวจสอบดีๆ ก็พบความผิดปกติให้ชวนสงสัย ไปจนถึงกรณีใหญ่ๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนทั้งประเทศ เช่น กรณี “โฮปเวลล์” ที่นอกจากต้องสูญเสียเงินมหาศาลแล้ว ประชาชนยังเสียโอกาสจากการขาดระบบคมนาคมขนส่งที่จะช่วยลดปัญหาการจราจรเป็นเวลานานกว่า 15 ปี ดังนั้น เราคงจะมองข้ามปัญหานี้ไม่ได้แล้ว เพราะต่อให้เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับคอร์รัปชัน แต่ผลของมันก็ทำให้คุณภาพชีวิตเราแย่ลงอยู่ดี
หนึ่งในทางออกที่จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน คือการเพิ่มแนวร่วมใหม่ๆ จำนวนมาก เข้ามาในวงการต้านโกงให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการป้องกันการคอร์รัปชัน แต่ผู้เขียนก็เข้าใจว่าแม้เรื่องการคอร์รัปชัน มันใกล้ตัวเราก็จริง แต่มันก็ยังเข้าใจยากอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพราะความซับซ้อนของวิธีการโกงที่แนบเนียนมากขึ้น หรือการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อให้คนนอกไล่จับไม่ทัน ทำให้กลายเป็นอุปสรรคของแนวร่วมหน้าใหม่ที่จะเข้ามาต้านโกง ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีไอเดียว่า เราควรมีโปรแกรมการฝึกแบบเข้มข้นเหมือนที่ “Rookie” ในวงการอื่นๆ เขาทำมั่ง เพราะวงการต้านโกงก็ต้องอาศัยการเทรนแบบ “Rookie” ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความตระหนักเรื่องคอร์รัปชัน มองเห็นปัญหา และลงไปมีส่วนร่วมแก้ไขตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยมีเป้าหมายว่า ถ้าผ่านการเทรนนิ่งแล้ว หากเจอเหตุการณ์สุ่มเสี่ยง หรือโครงการที่มีความผิดปกติ ก็สามารถยกธงแดงขึ้นเตือนได้ทันทีอย่างมืออาชีพ นำไปสู่การมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสและป้องกันการโกงได้
ไอเดียนี้มาจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรวบรวมงานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจำนวนมาก รวมถึงสื่อการเรียนการสอน และเครื่องไม้เครื่องมือที่คนไทยพัฒนาขึ้นในการตรวจจับการคอร์รัปชัน ซึ่งมีมากกว่าพันชิ้น ที่คัดมาแล้วว่าเป็นงานด้านคอร์รัปชันโดยเฉพาะ แต่ปัญหาคือ ทำยังไงให้มันอร่อยย่อยง่าย และใช้ประโยชน์ได้ทันที จึงนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาล หรือ KRAC ดำเนินการโดย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้ เครือข่าย และนวัตกรรมที่ช่วยให้ “Rookie”เทิร์นโปรสู่การเป็นนักต่อต้านคอร์รัปชันมืออาชีพได้
ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนในฐานะ “Rookie” ที่เทิร์นโปรแล้ว ขอมัดรวมผลงานของคนไทย 12 ชิ้น จากพันกว่าชิ้น ที่จะช่วยผลักดัน Rookie ให้เดบิวต์สู่วงการต้านโกงกันมากขึ้น จะมีเรื่องไหนบ้าง ตามมาดูกัน
เริ่มจาก ใครที่เป็นหนอนหนังสือ รักการอ่าน ผายมือไปที่งานวิจัยไทย 3 เรื่องนี้ ที่จะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ เรื่องแรก เข้าใจบริบทการคอร์รัปชันในประเทศไทย ผ่านงานเรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ เรื่องที่สอง มองคอร์รัปชันจากมุมมองของคนใน (พื้นที่) ผ่าน“โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 1-2” โดย ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ เรื่องที่สาม ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไรให้ได้ผล ผ่าน “โครงการประสานงานวิจัยและส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน” โดย ต่อภัสสร์ ยมนาค และคณะ หรือถ้าใครไม่มีเวลาอ่านเล่มเต็ม อดใจรออ่านเวอร์ชั่นอร่อยย่อยง่ายจากศูนย์ KRAC เร็วๆ นี้ค่ะ
ใครที่เป็นสาย Podcast หรือชอบรับชมเนื้อหาแบบเน้นๆ ตรงประเด็น คลิกไปที่ 3 ช่องนี้ได้เลย ช่องแรก “The Qallout” ที่เชื่อว่าเพราะเรื่องคอร์รัปชันต้องคุยกันได้แบบไม่เครียด มีเนื้อหาน่าสนใจ เช่น เก๋าเล่าโกง ที่พาคนสองวัยมาเล่าประสบการณ์ต้านโกงกันแบบเก๋าๆ และ Hidden Agenda ที่พาผู้เชี่ยวชาญ/นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันมาแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงาน ช่องที่สอง “ACT Now” อัปเดตเรื่องราวการคอร์รัปชันในประเด็นที่หลากหลายทันเหตุการณ์ และเรื่องราวการต่อสู้กับคอร์รัปชันของภาคส่วนต่างๆ ช่องที่สาม “สำนักงาน ป.ป.ช. NACC Thailand official” แหล่งรวบรวมสื่อการเรียนรู้ด้านการทุจริต และอัปเดตความรู้ใหม่ๆ ด้านการป้องกันคอร์รัปชัน เช่น ถอดรหัสคอร์รัปชัน
ใครที่เป็นสาย Self Development ชอบเรียนรู้แต่มีเวลาจำกัด แนะนำ E-learning “หลักสูตรสุจริตไทย” ที่จะช่วยให้ผู้เรียน แยกแยะได้ระหว่างสุจริตกับทุจริต และช่วยให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เมื่อต้องตัดสินใจในกรณีต่างๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต และยังมีแบบทดสอบเพื่อวัดความเข้าใจหลังจากผ่านการเรียนหลักสูตรนี้ด้วย โดยมีทั้งหลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียน/นักศึกษา ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง ใช้เวลาเรียนเพียง 70 นาทีเอง
ใครที่เป็นสาย Gamification ชอบเรียนรู้ด้วยเกม ขอแนะนำเกมเจ๋งๆ ฝีมือคนไทยที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและเรียนรู้ปัญหาคอร์รัปชันในกลุ่มเยาวชน โดยเกมแรกเป็นเกมแนว Visual Novel มีชื่อว่า “Corrupt The Game” ที่นำเหตุการณ์คดีคอร์รัปชันในชีวิตจริงมาเป็นเนื้อหาในเกม โดยให้ผู้เล่นเข้าถึงต้นเหตุและผลกระทบของการทุจริต ซึ่งผู้เล่นจะติดตาม เรียนรู้ตัดสินใจเลือก (ที่จะโกง หรือไม่โกง) ไปกับตัวละครหลัก และเผชิญกับผลกระทบของทางเลือกที่ตนเลือก เป็นเกมที่ฮิตมากๆ มีคนโหลดไปเล่นแล้วกว่า 80,000 คน เกมที่สองเอาใจสายบอร์ดเกม “The Trust : Anti-corruption Game” เกมที่จำลองสถานการณ์เพื่อสอนให้ผู้เล่นได้รู้เท่าทันถึงการทุจริต การตรวจสอบวิธีการโกงในโลกของความเป็นจริง และกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำผิด โดยเกมนี้มีคุณครูนำไปใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องคอร์รัปชันในห้องเรียนด้วย
ส่วนใครที่เป็นสายลงมือทำ อยากทดสอบความรู้ทั้งหมดที่ฝีกฝนมา ก่อนออกสู่สนามจริง ขอชวนทุกท่านไปร่วมจับตาไม่ให้ใครโกงผ่าน 2 เครื่องมือเจ๋งๆ ที่พัฒนาโดย Active Citizen ไทย เครื่องมือแรก “ACT AI” (actai.co) โดยความเจ๋ง คือการนำ AI เข้ามาใช้ตรวจจับความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐถ้าโครงการไหนน่าสงสัย ก็จะแสดงเครื่องหมายเตือนให้ประชาชนช่วยกันจับตาดู เครื่องมือที่สอง “เพจต้องแฉ” อย่าดูถูกพลังโซเชียลเพราะต้องแฉเป็นพื้นที่ออนไลน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส ติดตาม ตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน แอบกระซิบว่า ปรากฏการณ์ตรวจสอบการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมทั่วประเทศ ก็มาจากพลังของประชาชนที่ใช้เครื่องมือสองชิ้นนี้นี่แหละ
ชิ้นสุดท้าย เป็นคัมภีร์คู่ใจ สำหรับ Rookie ที่พร้อมเดบิวต์สู่วงการต้านโกงแล้ว ขอแนะนำ “หนังสือ (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101” โดยต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ ที่ได้สรุปรวบยอดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการทำความเข้าใจคอร์รัปชัน และรวบรวมวิธีการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งจากทฤษฎีและการปฏิบัติจริงในพื้นที่มาไว้ในเล่มเดียว หาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ
ทั้งหมดนี้ คือผลงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของคนไทย 12 ชิ้น ที่จะช่วยให้ Rookie เดบิวต์สู่วงการต้านโกงได้ง่ายขึ้นถ้าหากใครได้ลองแล้วแต่ยังไม่จุใจ อยากเทิร์นโปรมากกว่านี้อดใจรอผลงานจากศูนย์ KRAC ได้เลย เพราะเรากำลังจะปล่อยเว็บไซต์ “KRAC Corruption” ในรูปแบบ KRAC To Connect เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ครอบคลุม และยังมี E-Learning จาก KRAC ชื่อว่า “หลักสูตรการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันร่วมสมัย” ที่พัฒนาโดยคณาจารย์จากจุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ขอการันตีว่าผลงานทั้งสองชิ้นนี้จากศูนย์ KRAC จะช่วยให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับคุณแน่นอน แล้วพบกันเดือนมีนาคมค่ะ
สุภัจจา อังค์สุวรรณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี