เอ่ยชื่อ ธนาคารกรุงเทพ ต้องบอกว่านี่คือ “ท็อปไฟว์” 1 ใน 5 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของไทยเสมอมา การันตีด้วยการจัดอันดับ “ธนาคารแห่งปี” (Bank of the Year) และในหลายปีของการจัดอันดับดังกล่าวยัง “ครองแชมป์” เหนือคู่แข่ง รวมถึงปีล่าสุดกับการจัดอันดับ Bank of the Year 2018 “แบงก์กรุงเทพ” มีสินทรัพย์รวม 3,076,310.39 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 17.29 บาท สูงเป็นอันดับ 1
ทั้งนี้ ความยิ่งใหญ่ระดับนี้ของธนาคารกรุงเทพ มาจากวิสัยทัศน์ของ “เจ้าสัวชาตรี” นายชาตรี โสภณพนิช ผู้อยู่กับแบงก์กรุงเทพมาตั้งแต่ปี 2523 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 85 ปี ขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร ไปเมื่อค่ำวันที่ 24 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญในแวดวงสถาบันการเงินของไทย
นายชาตรี เกิดเมื่อ 24 ก.พ. 2476 ที่ประเทศไทย เป็นทายาทของ นายชิน โสภณพนิช 1 ในตำนาน “เสื่อผืนหมอนใบ” อันหมายถึงชาวจีนที่เดินทางรอนแรมจากแผ่นดินเกิดมาแสวงหาโอกาสที่เมืองสยาม-ประเทศไทย จนสามารถก่อตั้งธุรกิจขนาดใหญ่ได้ นายชินนั้นเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ และนายชาตรีนั้นคือ “ทายาทรุ่นที่ 2”ผู้ทำให้กิจการของบิดาเติบโตขึ้นไปอีกขั้น
“เจ้าสัวชาตรี” เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชิน โดยมีพี่ชายคือ ระบิล โสภณพนิช (โรบิน ชาน-Robin Chan) ใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะฮ่องกง ชีวิตในวัยเด็กของนายชาตรีเติบโตที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน กับมารดาคือ นางชาง ไว เลาอิง เมื่อเริ่มเข้าวัยหนุ่มได้เรียนวิชาบัญชีที่ Kwang Tai Hing High Accountancy College ฮ่องกง จากนั้นไปศึกษาต่อ ณ London Regent Street Polytechnic ประเทศอังกฤษ พร้อมกับเรียนรู้งานธนาคารด้วยการเข้าฝึกงานที่ Royal Bank of Scotland ธนาคารเก่าแก่แห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร ก่อนเดินทางกลับมาประเทศไทยในปี 2501
ชีวิตการทำงานอย่างเป็นทางการของนายชาตรี เริ่มต้นในปี 2501 ที่บริษัท เอเชียทรัสต์ จำกัด ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการบัญชี ก่อนจะถูก นายบุญชู โรจนเสถียร ที่ช่วยนายชิน บริหารธนาคารกรุงเทพอยู่ในขณะนั้น ชักชวนให้มาทำงานในตำแหน่งเดียวกันกับแบงก์กรุงเทพ หน้าที่การงานของนายชาตรี ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ในปี 2505 เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี ปี 2514 เป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ปี 2517 เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
กระทั่งปี 2523 นายชาตรี จึงได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยในห้วงเวลา 12 ปีภายใต้การบริหารของเจ้าสัวชาตรี ธนาคารกรุงเทพมีความก้าวหน้าในทุกด้าน ผลประกอบการขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบาย “ธนาคารคุณภาพ” รวมถึงการเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีเครือข่ายออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทย ก่อนจะส่งไม้ต่อให้บุตรชาย นายชาติศิริ โสภณพนิช บริหารในปี 2535 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนตนเองขยับไปเป็นประธานกรรมการบริหาร และควบตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ในปี 2542
นอกจากผลงานกับธนาคารกรุงเทพแล้ว เจ้าสัวชาตรี ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้คนในแวดวงธุรกิจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ประธานสมาคมธนาคารไทย โดยเป็นถึง 3 สมัย ระหว่างปี 2529-2531 นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ในปี 2531 รวมถึงตำแหน่งระดับนานาชาติอย่างประธานสภาธนาคารอาเซียน กรรมการกลางสภาที่ปรึกษาผู้นำทางธุรกิจระหว่างประเทศของผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น
นายชาตรี ยังได้รับตำแหน่งสำคัญหลากหลายวงการ อาทิ ในปี 2531 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รับผิดชอบงานคณะกรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงินของวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพของรัฐสภา (คณะกรรมาธิการร่วมสภาผู้แทนราษฎร-สมาชิกวุฒิสภา) ในปีเดียวกัน ยังได้เป็นปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฝ่ายวิชาการและการประชาสัมพันธ์ และที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมานายชาตรี ได้เป็น สว. อีกครั้งในปี 2539 รับผิดชอบงานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของวุฒิสภา ส่วนในด้านสังคม อาทิ ดำรงตำแหน่งประธานกองทุนสงเคราะห์ชุมชน สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างปี 2525-2526 ตำแหน่งสมาชิกอุปการะของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี 2532 เป็นต้น
เจ้าสัวชาตรี ได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Peperdine เมืองลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2526 ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย De La Salle ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2529 และยังได้รางวัลเกียรติยศ “Lifetime Achievement Award” จาก Asia Pacific Bankers Congress (APBC) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์โดยอุทิศตนเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงภาคธุรกิจการธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงเทพเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย
ฟอร์บส์ (FORBES) นิตยสารชื่อดังด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงจากการจัดอันดับคนร่ำรวยทั่วโลก รายงานปี 2561 ระบุว่า นายชาตรี เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 26 ของไทย มีทรัพย์สินรวม 1,470 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 45,570 ล้านบาท ขณะที่ชีวิตส่วนตัว นายชาตรีสมรสกับ คุณหญิงสุมณี โสภณพนิช มีบุตร-ธิดารวม 4 คน คือ นายชาติศิริ โสภณพนิช, นางสาวิตรี รมยะรูป, นายชาลี โสภณพนิช และนางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล
รายงานข่าวการเสียชีวิตของนายชาตรี โสภณพนิช เมื่อค่ำวันที่ 24 มิ.ย. 2561 ระบุว่าเจ้าสัวชาตรีเข้ารับการรักษาตัวและผ่าตัดหัวใจที่ รพ.บำรุงราษฎร์ มาเป็นเวลาปีเศษ เพราะทางบ้านเชื่อว่ามีอะไรจะดูแลรักษาได้เร็วกว่า ทั้งนี้ เจ้าสัวชาตรีได้ฟอกไตสัปดาห์ละ3 ครั้ง โดยมีลูกๆ และญาติพี่น้องมาเยี่ยมที่ รพ.เป็นประจำสม่ำเสมอ กระทั่งเจ้าสัวชาตรีได้จากไปอย่างสงบ
ชื่อ : นาย ชาตรี โสภณพนิช
วันที่เกิด 28 กุมภาพันธ์ 2476
ประวัติครอบครัว :
บิดา นายชิน โสภณพนิช (ถึงแก่กรรม)
มารดา นางชาง ไว เลาอิง (ถึงแก่กรรม)
ชื่อพี่-น้อง :
1.ระบิล โสภณพนิช หรือ โรบิน วาย.เอช.ชาน
2.ชาตรี โสภณพนิช หรือ อังเดร
ภรรยา : คุณหญิงสุมณี โสภณพนิช
ชื่อบุตร-ธิดา :
1.ชาติศิริ (โทนี่) โสภณพนิช สมรสกับ ณินทิรา ประจวบเหมาะ
2.สาวิตรี รมยะรูป สมรสกับ นพดล รมยะรูป
3.ชาลี โสภณพนิช สมรสกับ แพทย์หญิง สิริยา
4.สุชาดา โสภณพนิช สมรสกับ สมบัติ ลีสวัสดิ์ตระกูล
การศึกษา :
ปี 2526 ปริญญาเอก นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก Pepperdine University,Los Angeles, California สหรัฐอเมริกา มกราคม 2529
ปริญญาตรี ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก De La Salle University, ประเทศฟิลิปปินส์ 6 มกราคม 2551
ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ
- ประกาศนียบัตรวิชาการธนาคาร ที่ Institute of Bankers, ประเทศอังกฤษ
- อาชีวศึกษาชั้นสูง วิทยาลัย Kwang Tai High Accountancy College, Hong Kong
- อุดมศึกษา ที่ London Regent Street Poly-Technic, ประเทศอังกฤษ
ตำแหน่งปัจจุบัน :
- ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
การทำงาน และตำแหน่งหน้าที่ :
ตำแหน่งทางการเมือง :
8 มิถุนายน 2531 สมาชิกวุฒิสภา
- กรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบัน
การเงิน-วุฒิสภา
- กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพของรัฐสภา
- ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง ประจำรัฐสภา 18 กรกฎาคม 2531 ที่ปรึกษารัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม ฝ่ายวิชาการและการประชาสัมพันธ์
- ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
22 เมษายน 2532 สมาชิกวุฒิสภา
22 มีนาคม 2539 สมาชิกวุฒิสภา (ลาออก 15 พ.ย. 2539)
11 เมษายน 2539 กรรมาธิการการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (วุฒิ)
ตำแหน่งทางสังคม :
2518-2523 รองประธานกรรมการ “กองทุนสงเคราะห์ชุมชน” สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
2519 อุปนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน
2524-2525 ประธานกองทุนสงเคราะห์ชุมชน สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
2529-2531 ประธานสมาคมธนาคารไทย รวม 3 สมัย
2530 ประธานสภาธนาคารอาเซียน
- กรรมการร่วมหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมไทย และสมาคมธนาคารไทย
2531 นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน
2531 กรรมการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย
2531 กรรมการดำเนินการจัดสร้างตึกภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
30 ธันวาคม 2531 กรรมการฝ่ายหาทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการที่ปรึกษาโครงการ “สวนวลัยรุกขเวช” (นามพระราชทานจากพระกรุณาของสมเด็จ
พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์) ในโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง
10 ธันวาคม 2532 สมาชิกอุปการะของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
8 มกราคม 2534 กรรมการอุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ จัดทำหนังสือ “ทวิสมโภช” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบและพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
30 พฤศจิกายน 2535 รองประธานกรรมการมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี