รับ5พัน14.2ล้านคน
คลังเร่งเยียวยาครบสัปดาห์นี้
พม.ช่วยกลุ่มเปราะบาง13ล้าน
คลังสรุปจ่ายเยียวยา 5 พันบาท ไปแล้ว 14.2 ล้านราย ร้อยละ 99 จ่ายอีก 6.7 แสนรายในสัปดาห์นี้ เร่งตามตัว 1.6 แสนราย รีบรายงานแบงก์กรุงไทยด่วน ภายในพฤษภาคม ช้าอาจถูกตัดสิทธิ์รับ 5 พัน สศค.เผย พม.ชงแผนเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม 13 ล้านคนเสนอเข้าครม.สัปดาห์หน้า ด้านกรมบัญชีกลางจ่อจ่ายเยียวยาคนพิการ 1.99 ล้านราย เซ่นพิษโควิด-19 รายละ 1 พันบาท 1 เดือน ดีเดย์ 29 พฤษภาคมนี้
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ผอ.สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการดำเนินการมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ณ วันที่ 20 พฤษภาคม สำเร็จเรียบร้อยแล้วร้อยละ 99
ในส่วนที่ยังคงเหลืออีกเพียงร้อยละ1คือการดำเนินการในส่วนที่ยังตกค้างเกี่ยวกับการขอทบทวนสิทธิ
ทั้งนี้ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 28.8 ล้านราย มีการลงทะเบียนซ้ำ 4.8 รายการ และลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านราย ทำให้มีผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22.3 ล้านราย มีผู้ผ่านเกณฑ์ 15 ล้านราย ไม่ได้รับสิทธิ 7 ล้านราย และอยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนสิทธิ 2.4 แสนราย
คลังเยียวยา5พันแล้ว14.2ล้านราย
“กลุ่มผู้ผ่านเกณฑ์ 15ล้านราย โอนเงินเยียวยาแล้ว 14.2 ล้านราย ส่วนที่เหลือจะโอนเงินเยียวยาได้ครบถ้วนทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ โดยมีรอบการโอนวันที่ 21พฤษภาคม จำนวน 2.3 แสนราย และวันที่ 22 พฤษภาคม จำนวน 4.4 แสนราย”นายลวรณ ระบุ
ทั้งนี้ บัญชีของผู้รับจะต้องไม่มีปัญหาในเรื่องบัญชีไม่ตรงกับชื่อนามสกุลที่ลงทะเบียน บัญชีถูกปิด หรือไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งจะเป็นเหตุให้การโอนเงินไม่สำเร็จ ดังนั้น สำหรับกลุ่มผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว แต่ยังติดขัดเรื่องบัญชีสำหรับรับโอนเงินเยียวยา โปรดดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนโดยเร็ว จะเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุด โดยไม่ต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติมอีก กระทรวงการคลังจะมีการตรวจสอบและโอนเงินให้ใหม่เป็นประจำทุกสัปดาห์
ขณะที่กลุ่มไม่ได้รับสิทธิ 7 ล้านราย จำแนกได้เป็นผู้ไม่ขอทบทวนสิทธิ 4.8 ล้านราย ผู้ไม่ผ่านการขอทบทวนสิทธิ 1 ล้านราย ผู้ยกเลิกการลงทะเบียนหรือยกเลิกการขอทบทวนสิทธิ 9 แสนราย และกลุ่มที่ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติม แต่ไม่ได้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายในเวลาที่กำหนดประมาณ 3 แสนราย
ส่วนกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนสิทธิ 2.4 แสนราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของจำนวนผู้ที่เข้าสู่การคัดกรองตามหลักเกณฑ์ ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ขอทบทวนสิทธิ 8 หมื่นราย จะได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิเพื่อนัดหมายยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้
เร่งตามตัว1.6 แสนรายก่อนอดได้5พัน
กลุ่มที่ 2 ประมาณ 1 แสนราย เป็นผู้ขอทบทวนสิทธิซึ่งเคยได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิแล้ว แต่ไม่สามารถนัดพบได้หรือที่อยู่จริงในปัจจุบันไม่ตรงกับที่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนขอทบทวนสิทธิ ทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิไม่สามารถเจอตัวได้ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ผู้พิทักษ์สิทธิได้พยายามติดต่อไปหาแล้วหลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้จำนวน 6 หมื่นราย
“ในส่วนของผู้ขอทบทวนสิทธิในกลุ่มที่ 2 และ3 กระทรวงการคลังจะมีการส่ง SMS แจ้งให้ทราบอีกครั้งและให้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารกรุงไทยที่สะดวกที่สุด เพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพโดยนำบัตรประชาชนตัวจริงไปแสดงพร้อมหลักฐานการประกอบอาชีพ ได้จนถึงวันที่ 29 พ.ค.นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1144 หากไม่มายืนยันตัวตนในเวลาที่กำหนดจะถือว่าสละสิทธิการรับเงินไป”โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว
ส่วนกรณีการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร มีกลุ่มข้าราชการทำอาชีพเกษตรกรลงทะเบียนด้วยนั้น นายลวรณ ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการส่วนของกระทรวงคลังครบถ้วนแล้ว ส่วนจะพิจารณาว่าให้หรือไม่ให้นั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากนั้นจึงส่งข้อมูลมายังกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาดูว่าซับซ้อนกับการจ่ายเงินเยียวยาอาชีพอิสระหรือไม่
ชงเยียวยากลุ่มเปราะบาง13ล้านคน
ทั้งนี้ นายลวรณ เปิดเผยอีกว่าในวันนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.1ล้านล้านบาท พิจารณาแผนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเด็กแรกเกิด กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ โดยหากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบตามที่เสนอ จะส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อในสัปดาห์หน้าทันทีเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
ทั้งนี้ เบื้องต้น พม.ได้ส่งรายชื่อมาให้ทั้งหมด13ล้านราย หากได้รับการอนุมัติ กระทรวงการคลังจะส่งรายชื่อกลุ่มคนเป้าหมาย ทั้ง3 กลุ่มว่าเคยได้รับการเยียวยาจากโครงการ’เราไม่ทิ้งกัน’การเยียวยาของเกษตรกร ละประกันสังคมหรือไม่ เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อน ก่อนจ่ายเงินช่วยเหลือต่อไป โดยขั้นตอนการจ่ายเงินนั้น สศค.จะต้องหารือกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เพื่อพิจารณาการกู้เงินที่เหมาะสมจากนั้นให้ พม.ตกลงวงเงินการใช้เงินกับสำนักงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณดำเนินการได้ทันที
“ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องใช้งบเท่าไร ต้องรอ ครม.อนุมัติก่อนว่ารายชื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีกี่คน และจ่ายในลักษณะไหน จะ5,000บาท เหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงก็ต้องรอสรุปอีกทีก่อนแต่ยืนยันกระทรวงการคลังทำเร็วเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด”นายลวรณย้ำ
ยืนยันไม่มี’เราไม่ทิ้งกัน’รอบ2
สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ยังคงตกหล่น ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือนั้นนายลวรณกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาความช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ในส่วนของการจัดทำโครงการ’เราไม่ทิ้งกัน’รอบที่2คงไม่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆเกือบครบทั้งหมดแล้วแต่หน่วยงานอื่นก็จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำโครงการ’เราไม่ทิ้งกัน’รอบที่2อีก
เยียวยาคนพิการ1พันดีเดย์29พ.ค.นี้
น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่าตามที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลายมาตรการและคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีมติให้ช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19คนละ1,000บาทจำนวน 1 ครั้ง
โดยเป็นคนพิการที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยความพิการต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมบัญชีกลางทำหน้าที่จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านระบบบูรณการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.99 ล้านราย แบ่งเป็น ผู้มีสิทธิ์ที่มีข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น1,898,357ราย กรุงเทพมหานคร 87,359 ราย และเมืองพัทยา 1,286ราย
“ขณะนี้กรมบัญชีกลาง เตรียมความพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ในการส่งข้อมูลของผู้มีสิทธิ เพื่อนำมาตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเงินและข้อมูลบุคคลที่มีชีวิตจากกรมการปกครองวันที่ 31มี.ค.2563 เมื่อได้รับการยืนยันข้อมูลจากกรมการปกครองแล้ว กรมบัญชีกลาง สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้วันที่ 29พ.ค.2563โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ์หรือบัญชีผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ จากผู้มีสิทธิ์ กรณีที่ผู้มีสิทธิ์รับเงินสด ติดต่อรับได้ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้มีสิทธิ์ที่ยังไม่ได้รับเงิน วันที่ 29 พ.ค.2563 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับเบี้ยความพิการในฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ เนื่องจากข้อมูลคลาดเคลื่อน สามารถสอบถามได้ที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อดำเนินการขอรับเงินต่อไป
เร่งเยียวยาเกษตรกรให้ครบสิ้นพค.
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่ารอรับผลการตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรประมาณ 3.4ล้านคน ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กำลังตรวจสอบไม่ให้ซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการอื่นของรัฐ คาดว่า สศค.จะส่งกลับมายังกระทรวงเกษตรฯวันนี้(21 พ.ค.) ทันทีที่มาถึง จะส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชุดนี้ ตั้งแต่วันที่22พ.ค.ตามแผนงานที่วางไว้จะจ่ายครบวันที่25พ.ค.จากนั้นเตรียมรับรายชื่อของเกษตรกรที่ขึ้นและปรับปรุงทะเบียนระหว่างวันที่ 1-15พ.ค.ซึ่งมีประมาณ1.57ล้านคน ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองตามเกณฑ์เดียวกัน หากได้รับรายชื่อที่คัดกรองแล้ววันที่27พ.ค.จะจ่ายเงินวันที่30-31พ.ค.
ส่วนเกษตรกร กลุ่มสุดท้าย คือ เกษตรกรที่ยื่นแบบ ทบก.01ซึ่งเป็นแบบคำร้องทะเบียนเกษตรกรภายใน 15 พฤษภาคม แต่การเพาะปลูกล่าออกไป เนื่องจากรอฝน มีประมาณ 130,000ราย ซึ่งต้องเพาะปลูกภายในวันที่ 30 มิ.ย.แจ้งให้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอทำประชาคมเพื่อตรวจสอบว่าทำการเกษตรจริงก่อนวันที่ 15 ก.ค.นั้น ตามแผนงานที่กำหนดไว้คาดว่าจะจ่ายเงินวันที่ 27 ก.ค.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี