นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวโควิด-19 ระลอกใหม่ สมาคมฯ จึงวิตกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์ (Lockdown) โควิด-19 รอบแรก เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ร้านค้าแม้ไม่ถูกปิดแต่ก็ไม่มีลูกค้า ภัตตาคาร ร้านอาหารไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน ธุรกิจที่ผ่านมาก็ได้ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก การเลิกจ้าง การว่างงานมีมาอย่างต่อเนื่อง สต๊อกสินค้าล้นเนื่องจากไม่มีการขายธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
สมาคมฯใคร่ขอตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก ศูนย์การค้า และร้านอาหารดังนี้1.สนับสนุนค่าจ้างพนักงานลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง 2.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน 3.ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน 4) เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง
นายฉัตรชัยกล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการซึ่งได้ดำเนินเป็นประจำทุกเดือนโดยครั้งนี้เดือนเมษายนเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่16-24 เมษายน 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศมีข้อสรุปดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือนเมษายน ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมโดยดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลาง
ที่ 50 อย่างชัดเจน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาคปรับลดลงจากเดือนเมษายนในทุกภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีที่ลดลงชัดเจน กรุงเทพฯปริมณฑล และภาคใต้ที่เป็น Super Spread หลัก
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทความร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายนและเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ยกเว้นร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง ที่ปรับลดต่ำกว่าเดือนมีนาคมเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50
ส่วนคำถามพิเศษประจำเดือนให้ผู้ประกอบการประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ผลการสำรวจผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง พบว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมีนาคมมากกว่า 25% ผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน และประเมินว่ายอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม
“ผู้ประกอบการยังมีความกังวลถึงการจ้างงานที่จะลดลงจากยอดขายที่หดหายไป ผู้ประกอบการมีข้อเสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% รวมถึงควรหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan ที่เข้าถึงง่ายให้กับผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ” นายฉัตรชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี