KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือเกียรตินาคินภัทร (KKP)จัดทำรายงาน “เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นยาว ท่องเที่ยวยังไม่กลับเป็นปกติแม้เปิดประเทศ” โดยระบุว่า KKPResearch ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ในปีนี้ จาก 2.2% เหลือ 1.5% ตามการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด อีกทั้งวัคซีนที่ล่าช้าจะส่งผลให้ปีนี้นักท่องเที่ยวกลับมาได้เพียงประมาณ 160,000 คนเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะฟื้นได้อย่างเต็มที่
ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของนโยบายวัคซีน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตามสัญญาณจากรัฐบาลจีนว่าจะไม่กลับมาเปิดประเทศในเร็วๆ นี้ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาไทย และคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้เพียง 5.8 ล้านคนในปี 2565
“การฉีดวัคซีนที่ล่าช้ากำลังสร้างต้นทุนมหาศาลต่อเศรษฐกิจใน 3 ช่องทาง คือ 1. ความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกใหม่ 2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาได้ช้าลง และ 3. ต้นทุนทางการคลังจากนโยบายเยียวยาที่ต้องออกเพิ่มเติม ซึ่งมีมูลค่าที่สูงกว่าราคาวัคซีนหลายเท่า นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือการเร่งการจัดหา และกระจายวัคซีน เพื่อทำให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาเดินหน้าได้เร็วที่สุด พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาจนปี2566”
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าสถานการณ์การจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ น่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และการเปิดประเทศอาจทำได้ล่าช้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาได้เพียง 160,000 คนเท่านั้นในปีนี้แม้ว่าการส่งออกและภาคเกษตรน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงแรง
“วัคซีนที่ล่าช้าเป็นผลมาจากทางเลือกนโยบายของภาครัฐ มากกว่างบประมาณที่ไม่เพียงพอ เมื่อประเมินตัวเลขงบประมาณทั้งหมดเพื่อการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ผ่านนโยบายทั้งการแจกเงิน การให้เงินอุดหนุน โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และเปรียบเทียบกับราคาวัคซีนจะพบว่า หากนำนโยบายที่ใช้เยียวยาจากการระบาดระลอกใหม่เพียงสองสัปดาห์ไปซื้อและฉีดวัคซีนแทนจะสามารถซื้อ Pfizer ได้ถึง 129.4 ล้านโดส Moderna ได้ถึง 83.1 ล้านโดสซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรไทยเกือบทั้งประเทศและลดต้นทุนทางการคลังจากการเยียวยาไปได้อย่างมาก”
KKP Research ประเมินว่าแผนการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง ในกรณีฐานประเมินว่าการฉีดวัคซีนของไทยน่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของประชากรในปีนี้ และด้วยระดับประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ กว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) จะต้องใช้ฉีดวัคซีนมากกว่า 80% ของประชากร (ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของวัคซีนและความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา) และอาจจะใช้เวลาถึงไตรมาสสองของปีหน้า แต่ในกรณีเลวร้ายที่วัคซีนทำไม่ได้ตามแผน อาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อล่วงเข้าไปในครึ่งหลังของปี (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น มีผู้ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนจำนวนมาก)
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่า นโยบายที่ควรทำที่สุดในเวลานี้คือการเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ เร่งจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุมรัฐต้องเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นโครงการลงทุนที่สร้างรายได้ สร้างงาน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ตอบโจทย์และความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี