ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้ทางการต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยประเมินทิศทางธุรกิจร้านอาหารไว้ 2 กรณี ดังนี้ 1.กรณีพื้นฐาน ภาครัฐควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลกลับมาเปิดให้บริการนั่งในร้านได้ตามปกติ การใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะทยอยกลับมา ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 5.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี
ที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท (-13.5%)
กรณีเลวร้าย ความเสี่ยงการระบาดของโควิดที่อาจจะมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง และยาวนานกว่า 30 วัน ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทางการอาจจะคงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคและการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการให้บริการนั่งในร้านจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารน่าจะล่าช้าและสร้างผลกระทบในระยะกลางกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 7.0 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท (-17.3%)
การสื่อสารที่ชัดเจนและความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐให้ครอบคลุมมากขึ้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะพยายามปรับตัว และภาครัฐออกนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ผลกระทบต่อเนื่องที่สะสมได้สร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐอาจจำเป็นที่จะควบคุมการระบาดของโรคโควิดเพิ่มเติมคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารจะมีความแตกต่างในโครงสร้างของธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่ เป็นของสด และมีวันหมดอายุ (ต้นทุนอาหารคิดเป็นสัดส่วน 25-40% ของรายได้) ทำให้การประกาศมาตรการควบคุมในระยะข้างหน้า ทางการอาจจะพิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเบาไปที่เข้มงวด (หรือใช้การหน่วงเวลา) เพื่อให้ร้านอาหารเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงผ่านการลดสต๊อกวัตถุดิบ ปรับช่องทางการขาย รวมถึงการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภค
นอกจากนี้ในระยะต่อไปภาครัฐอาจพิจารณาการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาในมิติอื่นๆ ของผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การเข้าถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงหลักเกณฑ์การชดเชยที่มีต่อผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี