มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แจ้งว่า กกร.ได้ยื่นหนังสือขอเข้าหารือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ล่าสุดอยู่ระหว่างรอทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งเวลากลับมา ทั้งนี้ กกร. ได้ยื่น 5 ประเด็นหลักในการหารือดังนี้
1.การจัดหา และจัดสรรวัคซีน เช่น ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตให้เอกชน เป็นผู้ติดต่อนำเข้าวัคซีนได้ไม่ต้องผ่านหน่วยงานรัฐ แต่ให้อยู่ในเกณฑ์การดูแลของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรฐาน และราคาที่เหมาะสม โดยให้ภาครัฐเป็นผู้ออกใบคำสั่งซื้อ และออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะเดียวกัน ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ไม่ต้องรอให้บริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่นให้ใช้เกณฑ์ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก(WHO), ขอให้บริหารจัดการแอปพลิเคชั่นจองวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ควรมีแอปฯเดียว และต้องไม่มีการยกเลิกหรือเลื่อนนัดหมายประชาชนอีก,ให้ปรับโครงสร้างการทำงานของศูนย์ศบค. ให้มีประสิทธิภาพ, จัดรถโมบาย ยูนิต เคลื่อนที่กระจายการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วขึ้น และเร่งการจัดหาวัคซีนที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากเริ่มมีการระบาดไปยังเด็กมากขึ้น และแผนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สำหรับบุคคลทั่วไปด้วย
2.อนุญาตสนับสนุนให้เอกชนดำเนินการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ เพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต 3.สนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอให้ประชาชนเข้าถึงได้ รวมทั้งการบริหารกำจัดขยะอันตรายให้มีประสิทธิภาพ 4.การจัดการสถานที่กักตัว และคัดแยกผู้ป่วย เช่น ปรับลดเกณฑ์ฮอสพิเทลและเพิ่มโฮเทล ไอโซเลชั่น รองรับกลุ่มสีเขียว เพื่อลดการใช้เตียงในรพ.สนาม สนับสนุนเอกชนทำคอมพานีไอโซเลชั่น หรือให้ใช้โรงแรมขนาดกลาง และเล็ก โดยให้รัฐสนับสนุนการจ่ายค่าที่พักให้, จัดมาตรฐานและเกณฑ์ แฟคทอรี่ ไอโซเลชั่น ของแต่ละจังหวัด ขอให้เอกชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน
5.แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น ให้กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี ระยะเวลา 3 ปี, เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 70% ขึ้นไปจากเดิม 40%, ขยายลดภาษีที่ดิน 90% อีก 1 ปี,ลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน และค่าวัคซีนป้องกันโควิด, ขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 0.01% จดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% เดิมสิ้นสุดสิ้นปี 2564 และเสนอให้เปลี่ยนการคิดค่าธรรมเนียมจากมูลค่า3 ล้านแรก ให้ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาท เพื่อให้เกิดแรงจูงใจกลุ่มมีกำลังซื้อ ขยายเวลาถึงสิ้นปี 2565, ขอให้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจไปได้ เช่น พิจารณาเปิดบางกิจการที่พนักงานได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 โดส
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี