“หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” เป็นความร่วมมือของ “กลุ่ม ปตท.” กับพันธมิตรหลากหลายองค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท เพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในประเทศไทย
ภายใต้หลักคิด “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ซึ่งหมายถึงการลดโอกาสเสียชีวิตลง ซึ่งประกอบด้วย 4 จุด คือ “จุดที่ 1 หน่วยคัดกรอง” ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ EnTer ของบริษัท Energy Complex กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
“จุดที่ 2 , 3 และ 4 จัดเตรียมเป็นโรงพยาบาลสนามครบวงจร” เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 รองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.ปิยะเวท แบ่งได้ดังนี้
1.โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่ม “สีเขียว” สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมใน กทม. จำนวนกว่า 1,000 เตียง
2.โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเหลือง” สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง มีระบบออกซิเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย
3.โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับ “สีแดง” จัดสร้างโรงพยาบาลสนาม ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ จำนวน 120 เตียง สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก
การจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้ระดมความเชี่ยวชาญจากบริษัทในเครือ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการ อาทิ “GC” บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนา เสื้อกาวน์พลาสติกป้องกันการติดเชื้อ (PE Gown) เป็นเสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gown) ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน (PE) คุณภาพสูง แบรนด์ InnoPlus
โดย GC ออกแบบให้น้ำหนักเบา สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง มีคุณสมบัติในการป้องกันการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ขณะเดียวกันก็ออกแบบให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน หลังใช้งานสามารถกระตุกเสื้อให้ฉีกขาดเพื่อทิ้งได้ทันที เพื่อลดการสัมผัส และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 2.หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ (Powered Air-Purifying Respirator : PAPR) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการป้องกันในระดับสูง กรณีบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำหัตถการให้กับผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับกล่องกรองอากาศของอุปกรณ์ PAPR ต้นแบบ จะขึ้นรูปโดย GC ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing)
“ปตท.สผ.” บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนหุ่นยนต์ “CARA” เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอุปกรณ์และอาหารแก่ผู้ป่วย หุ่นยนต์ CARA พัฒนาโดย บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.สผ. ร่วมกับ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท Obodroid - HG robotics มีสมรรถนะดังนี้ น้ำหนักบรรทุก 10 กิโลกรัม ระยะบังคับไกลสุด 120 เมตร เวลาการใช้งาน 2 ชั่วโมง ต่อการชาร์ตหนึ่งครั้ง
ตัวหุ่นมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน ล้างทำความสะอาดได้ง่าย สามารถเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการนำส่งเวชภัณฑ์และอาหารในโรงพยาบาล สถานพยาบาลและสถานที่กักตัวผู้ป่วย
เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งเป็นช่องทางการสื่อสารในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากระยะไกลผ่านแท็บเล็ต
ARV ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค “Xterlizer UV Robot” เครื่องฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV อีกด้วย ซึ่งสมรรถนะดังนี้ กว้าง 0.5 เมตร ยาว 0.82 เมตร สูง 1.78 เมตร ความเร็วสูงสุด 5.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความยาวคลื่นแสง UV 253.7 นาโนเมตร หลอดแสง UV ให้กำลัง 432 วัตต์ ทำงานติดต่อกันได้ 3-3.5 ชั่วโมง ใช้เวลาชาร์จพลังงานจนเต็มอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง รัศมีหวังผล 1-1.5 เมตร
หุ่นยนต์ Xterlizer UV Robot แบ่งเป็น 2 รุ่นคือ “Type R” น้ำหนัก 75 กิโลกรัม บังคับด้วยรีโมทคอนโทรลผ่านคลื่นวิทยุ ติดตั้งกันชน เซ็นเซอร์ PIR และสวิตซ์ฉุกเฉิน กับ “Type S” เคลื่อนที่ได้โดยอัตโนมัติด้วยการกำหนดเส้นทางและทำแผนที่ผ่านเว็บแอปพลิเคชั่น แต่ก็ติดตั้งระบบรีโมตคอนโทรลมาให้ด้วย น้ำหนัก 80 กิโลกรัม อีกทั้งนอกจากจะติดตั้งกันชน เซ็นเซอร์ PIR และสวิตซ์ฉุกเฉิน เหมือนกับรุ่น Type R แล้ว ยังติดตั้งเซ็นเซอร์ Ultrasonic และระบบหลบหลีกสิ่งกีดขวาง (Obstacle Avoidance System) เพิ่มมาให้ด้วย
“IRPC” บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ พัฒนา “เตียงสนามพลาสติก” สำหรับโรงพยาบาลสนาม ด้วยคุณสมบัติรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 200 กิโลกรัม กันน้ำและสารคัดหลั่งซึมผ่าน ฆ่าเชื้อได้ทั้งการใช้น้ำยาและความร้อน อายุการใช้งานนานถึง 2 ปีและสามารถนำไปรีไซเคิลได้ การประกอบเตียงสามารถทำได้ง่ายอีกทั้งเคลื่อนย้ายได้สะดวกเพราะมีน้ำหนักเพียง 14 กิโลกรัมเท่านั้น
รวมถึง สถาบันนวัตกรรม ปตท. พัฒนานวัตกรรม “Hybrid Treatment for PM 2.5 and Airborne Pathogens” เพื่อกำจัดฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และเชื้อโรคในอากาศ ณ พื้นที่โรงพยาบาลสนามครบวงจร (สีแดง) สามารถกำจัดฝุ่น PM 2.5 ได้กว่าร้อยละ 90 และกำจัดเชื้อโรคในอากาศ (Virus, Bacteria, Fungi) ได้ถึงร้อยละ 99 เป็นระบบ Filterless Air Purifier ที่ไม่ใช้แผ่นกรองอากาศ จึงตัดปัญหาข้อจำกัดของขนาดรูพรุนของแผ่นกรองในการกรองเชื้อโรค รวมถึงปัญหาการอุดตันของแผ่นกรองจากฝุ่น ช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดการเกิดของเสีย
เป็นระบบ Waterless Air Purifier ที่ไม่มีการใช้น้ำในการบาบัดฝุ่น และไม่ทำให้เกิดละอองฝอยฟุ้งกระจายออกจากระบบบำบัดที่อาจเพิ่มการกระจายเชื้อโรคในอากาศ ช่วยลดมลพิษทางน้ำ และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช้แสง UV-C ในการกำจัดเชื้อโรค จึงไม่อันตรายต่อผิวหนังและดวงตา สามารถใช้งานในเวลาที่มีผู้คนโดยปกติ และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานบริเวณโดยรอบ และเป็นระบบบำบัดัอากาศเฉพาะที่ (Localized system) และสามารถใช้ในพื้นที่กึ่งปิด (Semi-Indoor) ได้
กลุ่ม ปตท. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการช่วยเหลือคนไทยฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี