นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือ ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายทำให้กำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก
ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ ปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศชะลอลงจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย ขณะที่ปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิพเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
“การติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมและภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์ผลที่เกิดไม่ต่างกันมากนัก ขณะนี้การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นส่งผลสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงจำนวนผู้ที่หายป่วยก็มีจำนวนมากขึ้น จึงอยากให้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้นจากนี้หวังว่าการล็อกดาวน์จะไม่เกิดขึ้นอีก หากทุกฝ่ายดูแลป้องกันควบคู่กับการฉีดวัคซีน” นายสุพันธุ์กล่าว
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,395 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19, เศรษฐกิจในประเทศ, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน, สภาวะเศรษฐกิจโลก, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 38.6% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว โดยภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
นายสุพันธุ์กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation ภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ ทุกๆ 14 วัน ตามมาตรการ Bubble and Seal ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 รวมทั้งจัดให้มี Mobile Units ฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ณ สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ในสถานประกอบการ เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ
นอกจากนี้ยังเสนอให้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบรวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs และให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย
“อยากให้มาตรการรัฐที่จะออกมาใหม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบรวมทั้งพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและฟื้นเศรษฐกิจสิ่งที่สำคัญ คือ ภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณในจัดตั้ง Factory Quarantine การจัดซื้อชุดตรวจ เนื่องจากเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการและผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19และพร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการแพร่ระบาด” นายสุพันธุ์กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี