นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ตลอดที่ผ่านมาส่งผลให้ยังคงประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจำนวนมากและหากไม่เร่งแก้ไขจะนำไปสู่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs)ซึ่งสมาพันธ์ฯได้เคยเสนอมาตลอดว่าควรใช้ มาตรการพักต้น พักดอกเบี้ย 6 เดือน และลดดอกเบี้ยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในกลุ่มเปราะบางเพื่อชะลอการเกิด NPL แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการฟื้นฟูหลังโควิด-19ควรมีการจัด 3 กองทุน คือ 1.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี โดยนำเอสเอ็มอีที่ตกเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อหรือที่ไม่เป็น NPLs มาช่วยเหลือและยกระดับการพัฒนา 2.กองทุนฟื้นฟู NPLs ที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเป็นธรรม และ 3.กองทุนนวัตกรรม เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้เอสเอ็มอีได้กลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น
นายแสงชัยกล่าวว่า จากนโยบายของภาครัฐที่ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 ก.ย.และอาจจะปลดล็อกมากขึ้นในช่วงต.ค. ขณะเดียวกันยังเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่กักตัวในวันที่ 15 ต.ค.2564 นี้เหล่านี้จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสมาพันธ์เอสเอ็มอีฯเห็นด้วยแต่สิ่งที่กังวลคือรัฐจะต้องเข้มงวดมาตรการป้องกันและดูแลไม่ให้เกิดการกลับมาระบาดหนักสู่ระลอกที่ 5 หรือระลอกใหม่อีกครั้งเพราะจะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปอีกและเอสเอ็มอีจะยิ่งวิกฤตกว่าเดิม
ทั้งนี้แม้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะส่งผลดีต่อเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจภาพรวมแต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าอัตราการติดเชื้อใหม่ของไทยรายวันก็ยังคงอยู่ระดับสูงกว่าหมื่นคนแม้จะลดลงจากก่อนหน้าไปบ้างก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสุดคือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบ 2 เข็ม โดยเร็วควบคู่ไปกับการควบคุมราคาชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK ไม่ให้สูงกว่า 100 บาทต่อชุด และเป็นATK ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่ายที่จะนำมาดูแลป้องกันตนเอง ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาควรนำบทเรียนจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาปรับใช้ ซึ่งมีข้อกังวลว่าต่างชาติอาจนำเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาได้จำเป็นต้องมีมาตรการที่ป้องกันอย่างรัดกุม
“เราเห็นด้วยอย่างยิ่งทั้งการค่อยๆคลายล็อกดาวน์ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ก็ต้องควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดที่ต้องวางไว้ให้ชัดเจนด้วยเพราะอาจเสี่ยงทำให้ไทยกลับมาสู่การระบาดรอบใหม่ได้ซึ่งถึงตอนนั้นจริงทุกอย่างจะหนักกว่าเดิม ซึ่งการฉีดวัคซีนถ้ารัฐทำได้ตามแผนหรือเร็วกว่าแผนได้เท่าไหร่ก็จะดีมากเท่านั้นเพราะถ้าต่างชาติจะเข้ามาแล้วไทยยังมีการติดเชื้อต่อวันสูงก็คงจะไม่ทำให้เขาเชื่อมั่น ส่วนชุด ATK หลังจากที่รัฐลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าก็ดีสำหรับเอกชนแต่จะให้ถึงประชาชนทั้งหมดต้องควบคุมราคาไม่ให้แพงเกินไป”นายแสงชัยกล่าว
มีรายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ กทม.ก่อนมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วมาเที่ยวไทยได้โดยไม่กักตัว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยจะเปิดให้เที่ยวพร้อมกันทุกเขต
ด้านนายธวัช ตรีวรรณกุล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก ผู้ประกอบการต้องปรับตัวหลายด้าน รวมถึงต้องใช้นวัตกรรมต่างๆ มาช่วย แน่นอนว่าจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน ซึ่งทางธนาคารพร้อมสนับสนุนด้วยการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการช่วยลูกค้าธุรกิจ และรายย่อย ซึ่งมีทั้งการปรับเงื่อนไขชำระหนี้ หรือการให้สินเชื่อง่ายขึ้น รวมถึงพักชำระหนี้ รักษาสภาพคล่องให้เจ้าของกิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีจุดประสงค์คือช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครอบคลุมมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี