นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละหกสิบ เป็นต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
“การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุกสามปี” รมว.คลัง กล่าว
ก่อนหน้านี้ หลายๆ ฝ่าย อาทิ ผู้บริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) นักวิชาการ นายธนาคารบางท่าน ฯลฯ ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รองรับผลกระทบจากโควิด โดยมองว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังค่อนข้างดี การใช้เงินจากการกู้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการสร้างรายได้และการเติบโตในช่วงโควิด
ในวันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ครม. เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) ว่า อยากวิงวอนทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง ศึกษามาตรการอย่างลึกซึ้ง พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ยืนยันว่าการดำเนินการทุกมาตรการของรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศอีกต่อไปจะเป็นการพลิกโฉมประเทศ
“การมีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปของไทย บรรเทาผลกระทบจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลง ขณะเดียวกัน ยังจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีทักษะสูงด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามาเสริมศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ด้วยเกิดการเชื่อมต่อเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ยกระดับทักษะและสมรรถภาพ และเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ
ทั้งนี้ มีการกำหนด กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ที่ชัดเจน ได้แก่ (1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งแต่ละกลุ่มยังมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศไทย อาทิ ลงทุนขั้นต่ำในพันธบัตรรัฐบาลไทยตั้งแต่ 250,000-500,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีหลักฐานการลงทุนในประเทศไทย มีรายได้ขั้นต่ำ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปี หากเพิ่มกลุ่มเศรษฐกิจสูง/ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาทำงานหรืออาศัยในไทยได้ 1 ล้านคน จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภายในประเทศได้ 1 ล้านล้านบาท จากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จากการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเกี่ยวกับการลงทุน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี