นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน Thailand InsurTech Fair ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “InsurTech for all and for the next normal”ว่า การจัดงานปีนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจากการจัดงานสัปดาห์ประกันภัย โดยจัดงานเป็นแบบ Virtual Event ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย หรือ InsurTech รวมถึงเพิ่มเติมส่วนของการสัมมนาเชิงวิชาการให้เข้มข้นขึ้น และการก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในยุค Next Normal
การจัดงานครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนภาคการประกันภัยให้เติบโตเข้มแข็ง ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็รักษาสมดุลระหว่างบทบาทด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยได้อย่างดี นับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้แสดงความสามารถ ถึงบทบาทด้านการบริหารความเสี่ยงให้กับสังคมไทย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้
หลังจากนี้อุตสาหกรรมประกันภัยต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal)ภายใต้ 6 แนวทาง ได้แก่
1. นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายของผู้รับบริการ ช่วยลดภาระการเดินทาง และลดภาระในเรื่องต้นทุนต่าง ๆ
2. ขยายบทบาทการรับประกันภัยที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. ตอบสนองเรื่องหลักประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากจำเป็นจะต้องมีหลักประกันที่มีผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างบั้นปลายชีวิต
4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมการรับประกันโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นสาธารณะ เช่น สนามบิน ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ควรมีการทำประกันวินาศภัย หรือประกันในรูปแบบต่างๆ รองรับ
5. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) และกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)
6. บริหารความเสี่ยงอย่างแม่นยำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้
ทั้งนี้หวังว่าภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะร่วมเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพมั่นคงและหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาให้ได้ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการประกันภัยให้แก่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กล่าวว่า คปภ. ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด จำเป็นอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมประกันภัยต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ต้องปรับรูปแบบธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และการให้บริการประชาชน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ก้าวไกล พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย หรือ “InsurTech Startup Hub” ในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี