นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งดูแลพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตร ก้าวข้ามวิกฤต โควิด-19และภัยธรรมชาติต่างๆ ผ่านมาตรการเยียวยา บรรเทา และฟื้นฟู ทั้งในส่วนของโครงการนโยบายรัฐและของ ธ.ก.ส. ส่งผลให้การดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2564(1 เมษายน-30 กันยายน 2564)เติบโตในอัตราที่ลดลงตามสภาวการณ์ โดยมีรายได้ 41,084 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 39,623 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,461 ล้านบาท ตั้งเป้าครึ่งปีหลัง คัดชุมชนที่มีศักยภาพ มาเป็นกลไกในการสร้างอาชีพรองรับแรงงานคืนถิ่นและคนรุ่นใหม่ 100,000 คน โดยประสานเครือข่ายภาครัฐเอกชนเติมเต็มองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างการเติบโตแบบยั่งยืน พร้อมจัดสินเชื่อต่อยอดธุรกิจและการให้บริการผ่านระบบ Digital Banking
ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 56 ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งมั่นดูแลพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตร และเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินงานผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการเยียวยา โดยขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมผ่านโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีเกษตรกรเข้าร่วม 6,924,413 ราย เป็นเงินกว่า 60,000 ล้านบาท
2.มาตรการบรรเทาผ่านโครงการประกันภัยพืชผล ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 3.68 ล้านราย พื้นที่รวมกว่า 44.8 ล้านไร่ และการดำเนินงานในส่วนของ ธ.ก.ส.เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการพักชำระหนี้มีเกษตรกรลูกค้าได้รับประโยชน์ 1,796,422 รายต้นเงิน 551,060 ล้านบาท และการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร 3 โครงการ ได้แก่ การประกันภัยโคนม โคเนื้อ และชาวประมง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2,783 ราย เบี้ยประกัน 3.82 ล้านบาท
3.มาตรการฟื้นฟู สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนตามนโยบายรัฐ 3 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงและสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2,266 ราย เป็นเงิน 8,986 ล้านบาท และในส่วนของธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการ สินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ สินเชื่อ Soft Loanของธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีวงเงินที่พร้อมสนับสนุนรวม 200,000ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 29,861 รายเป็นเงิน 14,269 ล้านบาท และในช่วงที่เกิดอุทกภัยได้สนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี