นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย พบว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค. 2564 มีมูลค่า 22,738.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (750,016 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 17.4ขณะที่การส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564ขยายตัวร้อยละ 15.7
โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น 1.ทิศทางการค้าโลกขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่สี่ 2.ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าไทย 3.การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลายประเทศมีการเปิดประเทศมากขึ้นส่งผลดีต่อภาคการค้า 4.ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และ 5.มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การค้าชายแดนเริ่มคลี่คลาย โดยด่านการค้าสำคัญจะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง
“นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ “ทีมไทยแลนด์” ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และส่วนราชการไทยทุกแห่ง เร่งขับเคลื่อนสำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีตามยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมมาตรการการส่งออกในระยะถัดไป เช่น การผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไทยให้มีคุณภาพอันดับ 1 ของโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยปี 2564 – 2567 เร่งรัดใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP หลังจากที่ไทยยื่นให้สัตยาบันแล้วและFTA ไทยกับคู่ค้าสำคัญ ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีในการรักษาตลาดเดิม สร้างตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าที่เสียไป เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าผลักดันการส่งออกของไทยในตลาดต่างประเทศ เพื่อหลังเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน” นายธนกร กล่าว
ขณะที่ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดทำบทวิเคราะห์ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกปี 2564 เป็น 16.7% จากเดิมเคยคาดที่ 15.0% ตามตัวเลขส่งออกที่ยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2565 EICคาดการส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 5.1% ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) โดยแม้เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง แต่เนื่องจากตัวเลขส่งออกในช่วงก่อนหน้าเติบโตเร่งกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาหลายประการ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือยืดเยื้อจากปัญหาคอขวดด้านอุปทาน การเริ่มกลับมาระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ค่าระวางและระยะเวลาขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูงนั้น คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งแรกของปีหน้า จากอุปสงค์การนำเข้าสินค้าทั่วโลกที่จะปรับลดลงตามฤดูกาล รวมถึงการนำเข้าจากสหรัฐฯที่มีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดเล็กลง และผู้บริโภคมีแนวโน้มหันไปใช้จ่ายภาคบริการมากขึ้น แต่ค่าระวางเรือก็ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤต ส่วนปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ)คาดว่าจะยังคงลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี