นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี’64 ภายใต้หัวข้อ ทะยานสู่การบินบริบทใหม่ (Thai Aviation Industry Conference 2021 : flying to the new era of Thai aviation) ว่า อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 7.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) และสร้างการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมการบินโดยรวมได้กว่า 700,000 ตำแหน่ง
ขณะที่อุตสาหกรรมการบินโดยรวมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ที่มีเครือข่ายการบินครอบคลุมเชื่อมโยงไปทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยมีสนามบินภูมิภาคกว่า 39 สนามบิน นอกจากนั้นยังพบว่าก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิดในปี 2562 ประเทศไทยมีเส้นทางการบินกว่า 449 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางบินในประเทศ 67 เส้นทางบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ 380 เส้นทาง ประกอบกับสถานที่ที่ตั้งประเทศไทยเหมาะสมที่เป็นศูนย์กลางทางการบิน
นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมาช่วงระหว่างปี 2555-2562 พบว่าอัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยสูงขึ้นในทุกๆ ปีเฉลี่ยประมาณ 9.4% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณเที่ยวบินที่มีอัตราการเติบโตกว่า 7.62% ต่อปี โดยในปี 2562 มีปริมาณ
ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยกว่า 165ล้านคนต่อปี มีปริมาณเที่ยวบินกว่า 1 ล้านเที่ยวบินมีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 1.5 ล้านตัน
เมื่อดูจากปัจจัยหลายๆ ด้านพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมการบิน และทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาร์ต้า คาดการณ์ว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออกมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือประมาณ 200 ล้านคนต่อปี หากดำเนินการตามศักยภาพและปัจจัยที่มีสร้างรายได้เข้าประเทศ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง
ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีการจำกัดการเดินทางทำให้การเดินทางทางอากาศลดลงกว่า 64%ผู้โดยสารต่างประเทศลดลงกว่า 81% จากปี 2562และจากการแพร่ระบาดยังมีอยู่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่าปริมาณการเดินทางจะลดลงมากกว่า 62.1% รัฐบาลจึงมีนโยบายเปิดประเทศ ควบคู่การดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ทำให้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการเดินทางเพิ่มขึ้น
รัฐบาลโดย คณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กบร.) และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และ กพท. กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินระยะที่ 4 เพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในช่วงปี 2565-2568
นอกจากนี้ได้มอบนโยบายให้ ทย. ร่วมกับกรมการค้าภายใน (คน.) ในการนำสินค้าทางการเกษตรมาขายและให้ประชาชนสามารถขนขึ้นเครื่องได้, ให้ ทย.จัดตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าโอท็อปในทุกสนามบิน รวมทั้งให้นโยบาย ทย. และ ทอ. ในการรับโอนย้ายสนามบินที่มีศักยภาพของ ทย. เช่น สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท. การพัฒนาสนามบินให้มีศักยภาพต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้คมนาคมได้เร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางบินในภูมิภาคด้วย
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง,ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ในปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 20 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 9.51 แสนคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 19 ล้านคน ขณะที่ปี 2565 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 62 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 26 ล้านคนและผู้โดยสารภายในประเทศ 35 ล้านคน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี