นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2565 มี 3 ปัจจัย คือ 1.ไวรัส COVID-19 ยังคงระบาดต่อเนื่องและยืดเยื้อ ประเด็นนี้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีอัตราการแพร่ระบาดสูงและทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ในอังกฤษ และเดนมาร์ก ที่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกสองวัน อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักพุ่งขึ้นตามจนเกินกำลังของระบบสาธารณสุขซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ในปี 2565 หลายประเทศจำเป็นต้องกลับมาประกาศใช้มาตรการ Lockdown ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยืดเยื้อต่อไปอีก
2.เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงตลอดทั้งปีสาเหตุหลักมาจากปัญหาด้านการผลิตที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เท่ากับช่วงก่อนที่ COVID-19 แพร่ระบาด เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งถูกกระทบจากสังคมสูงวัย ในสหรัฐฯ มีแรงงานที่ถูกปลดในช่วง COVID-19 จำนวนมากถึงกว่า 3 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ส่วนใหญ่อาจตัดสินใจเกษียณอายุและไม่กลับสู่ตลาดแรงงานอีกแล้ว ขณะที่ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้การลงทุนในแหล่งพลังงานฟอสซิลลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้ต้นทุนราคาพลังงานสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
3.นโยบายการเงินที่เข้มงวด ประเด็นนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่า ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางจะทำให้นโยบายการเงินมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นในปีหน้า โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะยุตินโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย (QE) ในไตรมาส 1/2565 และอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในทันทีที่ QE ยุติลง ซึ่งสภาพคล่องที่ลดลงและดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันต่อมูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นในปี 2565 โดยข้อมูลในอดีตชี้ว่าค่าอัตราราคาปิดต่อกำไร (P/E) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะลดลงเฉลี่ย 5% ในช่วง 2-3 เดือนหลังจากที่ Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
สำหรับภาพการลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่าไตรมาส 1/2565 จะเป็นช่วงที่เสี่ยงที่สุดสำหรับตลาดหุ้นในปี 2565 มีปัจจัยกดดันจาก 1.ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากอุปสงค์ที่กลับสู่ภาวะปกติหลังแรงหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดไป 2.ความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอน และ 3.การยุตินโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย (QE) และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จาก 3 ประเด็นข้างต้นคาดว่าในไตรมาส 1/2565 ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจปรับฐานประมาณ 5% แต่ยังคาดว่าสิ้นปี 2565 ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกตามการขยายตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
หากลงลึกการลงทุนไปยังรายประเทศ มองว่าตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจาก 1.มูลค่าหุ้นที่ยังถูกกว่า และมีส่วนลด (Discount) ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีตและ 2.ความยืดหยุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นมีมากกว่าสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูง ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) จะถูกกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี