นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อน พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ4.0 ต่อปี
สำหรับทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2565จะให้ความสำคัญกับ 1. การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ2. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ 3. การส่งเสริมSMEs และ Startup ทั้งในส่วนของการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยกลไกของตลาดเงิน ตลาดทุนและการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ 4. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม BCGModel (Bio-Circular-Green Economic Model)ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล 5. การสนับสนุนการส่งออกและนำเข้าสินค้า 6.การส่งเสริม DigitalGovernment ในการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ วิจัยกรุงศรีคาดว่า เศรษฐกิจยังได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการตรึงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีหน้า นอกจากครม.ยังพิจารณามาตรการเยียวยาและมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ายอมรับว่า มีความกังวล และต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอนในไทยแล้ว โดยหลายๆ ประเทศ เริ่มกลับมาประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งแต่ใจของภาคเอกชนไทยแล้ว ไม่มีใครต้องการให้กลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพราะจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว กลับมาหยุดชะงักอีกครั้ง
ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนพ.ย. 2564 พบว่า มีทั้งสิ้น165,353 คัน สูงสุดในรอบ 12 เดือน ลดลงจากเดือนพ.ย. 2563 เพียง 4.12% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.ปีนี้ 7.35% เพราะมีการผลิตเพื่อส่งออกถึง 90,112 คัน หรือคิดเป็น 54.50% ของยอดผลิตรถยนต์ ส่งผลทำให้ยอดผลิตรถยนต์ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 2564) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,531,337 คัน เพิ่มขึ้น 19.26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“ยอดผลิตรถยนต์ 11 เดือน สามารถทำได้แล้ว 1.53 ล้านคันแล้ว ดังนั้นทำให้มั่นใจปีนี้จะสามารถผลิตรถยนต์ได้เกินเป้า 1.6 ล้านคัน อย่างแน่นอนเพราะในช่วงการจัดงานมหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมามียอดจองแล้วกว่า 3.1 หมื่นคัน รวมถึงการส่งออก11 เดือน ก็สามารถทำได้กว่า 8.78 แสนคัน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ทำให้คาดการณ์ว่าส่งออกปีนี้น่าจะทำได้ถึง9.3 แสนคัน ซึ่งจะทำให้ทั้งปีผลิตรวมอยู่ที่ 1.69 ล้านคัน”นายสุรพงษ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี