นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารสมาชิกส.อ.ท. (โพลล์ส.อ.ท.)ประจำเดือนก.พ.2565 ในหัวข้อ “สินค้าแพงค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไป อย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น
นายวิรัตน์กล่าวว่า ส.อ.ท.เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง รวมทั้ง ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในช่วงนี้ อีกทั้งผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 2–4%
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท.(CEO Survey) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76.7% มองว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ อันดับ 1 คือปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรองลงมา 74% มองว่ามาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อีก 63.3% มองว่ามาจากค่าขนส่งที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และ 51.3% มองว่ามาจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น
ส่วนภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานแค่ไหน ผู้บริหารส่วนใหญ่ 35.3% มองว่าปัญหานี้จะนาน 3-6 เดือน รองลงมา34.7% มองว่าจะนาน 6-12 เดือน ผู้บริหาร30% มองว่านานมากกว่า 1 ปี ดี ดังนั้นผู้บริหาร 75.3% เสนอให้ภาครัฐลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ผู้บริหาร 74.7% เสนอให้ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ ผู้บริหาร 66% เสนอให้ตรึงราคาน้ำมัน ไม่ให้มีผลต่อต้นทุนสินค้า ผู้บริหาร 59.3% เสนอให้ใช้มาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง
“ผู้บริหาร 40% ระบุว่าจะสามารถตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้นาน 1-2 เดือน ผู้บริหาร 30.7% ระบุว่าจะสามารถตรึงราคาสินค้า ได้นาน 3-4 เดือน ผู้บริหาร 16.7% ระบุว่าสามารถตรึงได้มากกว่า 6 เดือน ผู้บริหาร 12.6% ระบุว่าสามารถตรึงได้ 5-6 เดือน โดยผู้บริหาร 58% มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 2-4% ผู้บริหาร 23.3% มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ผู้บริหาร 18.7% มองว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2%” นายวิรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ ผู้บริหาร 77.3% เห็นว่าเอกชนควรปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รับมือกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว ผู้บริหาร 61.3% เห็นว่าควรนำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN, ไคเซ็น ผู้บริหาร 54% เห็นว่าต้องปรับกลยุทธ์เน้นตลาดต่างประเทศ และการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ และผู้บริหาร 50% มองว่าต้องเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี