ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนหลักต่อเศรษฐกิจไทยว่า หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อหนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงเกิน 100 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล ต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมีนาคมเพียง 1 เดือน ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียงกับมุมมองเดิมที่ 3.8% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หนุนราคาน้ำมันเพิ่มสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมอาจทำให้เศรษฐกิจลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่หากลากยาวถึง 6 เดือนโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ค่อนข้างสูง
ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ แบ่งออกเป็น 3 กรณี
กรณีดีที่สุด: ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 1 เดือน (สิ้นเดือนมีนาคม) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดในเดือน มีนาคมก่อนจะทยอยปรับลดลง
กรณีฐาน: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ภายใน 3 เดือน (สิ้นเดือนพฤษภาคม) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือนมีนาคม-พฤษภาคมก่อนจะทยอยปรับลดลง
กรณีเลวร้าย: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 6 เดือน (สิ้นเดือนสิงหาคม) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือนมีนาคม-สิงหาคมก่อนจะทยอยปรับลดลง
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะส่งผ่านมายัง 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
1) ผลกระทบต่อการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อจะบั่นทอนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงยาวนานตามการส่งผ่านราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่อยู่ในระดับสูงต่อไปเพื่อชดเชยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงที่ผ่านมา ราคาพลังงานเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และด้วยแรงกดดันจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งทำให้ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้นและผันผวนอย่างมาก
2) ผลกระทบด้านการส่งออกจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอลง
ส่งออกไทยไปยุโรปอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ถึงแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสู่รัสเซียและยูเครนรวมกันแค่ 0.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดหรือราว 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ผลกระทบที่น่ากังวลจะเกิดจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวกว่าเดิมหากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานรุนแรงขึ้น เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังทวีปยุโรปสูงถึงราว 10%
3) ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกที่อาจเดินทางลำบากมากขึ้น รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินรูเบิล ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวผลจากวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซียและการอ่อนค่าของเงินรูเบิลอย่างรุนแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยว หากความขัดแย้งยืดเยื้อก็อาจกระทบลามไปถึงยุโรปตะวันออกให้ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวออกไป
ธุรกิจหลายสาขาทั้งภาคการเกษตรอุตสาหกรรม ขนส่ง ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กินระยะเวลานานยาวขึ้นตามแต่ละกรณี ยิ่งจะทำให้ภาคธุรกิจแบกรับต้นทุนนานขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง จะทำให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มผลักภาระมายังผู้บริโภคมากขึ้นตามไปด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี