พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายในการทำงานของคณะกรรมการฯว่า ต้องโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ขอให้ทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวัง รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด พร้อมฝากให้พิจารณาว่า ปัญหาในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ(รสก.)มีพื้นฐานของปัญหาอยู่ตรงไหนจะแก้ไขได้อย่างไร โดยไม่เป็นการบริหารงานแบบเดิม ๆ ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เกิดความเชื่อมั่น ให้เดินหน้าต่อไปได้
สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ พบว่า มีหลายอย่างที่ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าเป็นการดีขึ้นจากการประกอบการจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นรายได้จากธุรกิจอื่นเช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดินการขายทรัพย์สินหรือให้เช่าพื้นที่รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่ผลประกอบการหลักยังขาดทุนอยู่ จึงต้องแยกให้ชัดเจน เพื่อให้เจอปัญหาที่จะต้องแก้ไขโดยรัฐวิสาหกิจต้องเร่งแก้ปัญหาเก่าและเดินหน้าใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคตทุกอย่างขึ้นกับความร่วมมือของทุกคนที่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้
“เช่นกรณีบริษัทการบินไทยซึ่ง แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ในปี 2564 มีกำไรสุทธิ 55,113 ล้านบาท สาเหตุหลักคือการบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ จึงทำให้มีรายได้เพิ่ม แต่ยังไม่ถือเป็นรายได้ที่แท้จริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างองค์กรและค่าตอบแทนบุคลากร สิ่งสำคัญคือต้องทำให้มีเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ที่แท้จริง”
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 (แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืนโดยให้กำหนดกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อนำ 13 หมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒน์ฯ) ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้ แผนดังกล่าวจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ( BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) นอกจากนี้ ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น
การดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง มีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ เช่น บริษัทอสมท (บมจ. อสมท) ได้ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะสั้น ประจำปี 2564 ทำให้มีกำไรจากที่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คนร. ได้กำชับให้มีการดำเนินการตามแผนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมทั้งในเรื่องทางการเงินและการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น บริษัท เอ็นที ให้เร่งพัฒนาและบริหารจัดการระบบ 5G และดาวเทียมไทยคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งการจัดหารถเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น เป็นต้น
การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปี 2563 และ 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการประเมินที่ดีขึ้นโดย คนร. ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และภาวะวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบัน เช่นการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี