นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเม.ย. 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ จากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ 4.9% ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ดังนั้น แม้ว่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะหากไปทำให้ราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงรอบด้านแต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ จากความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19แบบเป็นปกติมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ ดังนั้น ที่ประชุม กกร.จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวได้ในกรอบ 2.5%-4.0% จากเดิมประมาณการขยายตัวในกรอบ 2.5%-4.5%
อย่างไรก็ตาม ยังคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 จะยังขยายตัวในกรอบ 3.0%-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในกรอบ 3.5%-5.5% จากเดิมประมาณการ อยู่ที่ 2.0%-3.0%
“กกร. มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณา ต่ออายุโครงการ คนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 รวมทั้งหากมีการยกเลิกมาตรการ Test & GO จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เกิน 3%”นายสุพันธุ์กล่าว
ส่วนของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง ความตึงเครียดดังกล่าวกดดันให้อุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีทิศทางตึงตัว โดยทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน โดย OECD ประเมินว่า วิกฤตรัสเซียและยูเครนจะทำให้เศรษฐกิจโลกโตน้อยลงกว่าเดิมกว่า 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.5% จากที่ประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤติ
พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี