แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา กฟภ. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) เพื่อขอขยายระยะเวลาการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ออกไป
เป็นวันที่ 2 ก.ค. 2565 ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนผลการคัดเลือกโครงการดังกล่าวว่า เข้าข่ายการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สำนักงาน ป.ป.ช.)
“ทางสำนักงานป.ป.ช.ได้รับเรื่องข้อกล่าวหาดังกล่าวเมื่อประมาณ 5 ต.ค. 2564 ทำให้ กกพ.ได้มีการเลื่อนการลงนามครั้งแรกออกไป 30 วัน หรือภายในวันที่ 20 ก.พ. 2565 และต่อมาได้มีการเลื่อนการพิจารณาลงนามครั้งที่ 2 อีก 60 วัน จากวันที่ 20 ก.พ. 2565 เป็นภายในวันที่ 21 เม.ย.นี้ และล่าสุดทางสำนักงานป.ป.ช.เองได้ขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 90 วัน ทำให้กฟภ.จึงขอให้ทางสำนักงานกกพ.เลื่อนการลงนามครั้งที่ 3 ออกไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค. 2565 รวมเป็นการเลื่อนลงนาม 162 วัน” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการพิจารณาคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทางกกพ.ได้ประกาศเมื่อ 23 ก.ย. 2564 มีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 43 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย) แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย) และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 รายปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย) ตามกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดเป้าหมายจากเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า การยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่ผ่านมาระเบียบไม่ได้เขียนชัดเจนว่า ห้ามแต่ละโครงการที่เสนอต้องไม่มีผู้ถือหุ้นเป็นรายเดียวกัน ทำให้บางรายเสนอเข้าไปหลาย 10 โครงการและมีเจ้าของเป็นคนคนเดียวกันและเมื่อคนที่ยื่นจำนวนมากและเสนอค่าไฟฟ้าต่ำสุดก็ย่อมถูกคัดเลือกจึงทำให้มีการยื่นเรื่องว่า เป็นการเข้าข่ายฮั้วประมูล ซึ่งทำให้ที่ผ่านมากฟภ.เองกลัวมีปัญหาหากลงนามไปก่อนซึ่งทำให้บางฝ่ายมองว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าที่สุดจะนำไปสู่การยกเลิกการคัดเลือก
สำหรับรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 นั้น พบว่า บริษัทที่ครองแชมป์ได้สูงสุดเป็น บริษัทย่อยของบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 18 บริษัท รวม 18 โครงการ (1 บริษัทย่อยต่อ 1 โครงการ) คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 59 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 50 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) ทั้ง 18 โครงการ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)ที่มีผู้ได้รับการคัดเลือก 43 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564 นั้น ในขณะนี้ยังไม่ได้มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ (กฟภ.) แต่อย่างใดโดย กฟภ.แจ้งว่า เนื่องจากมีผู้ไปยื่นฟ้องร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ว่ามีการฮั้วประมูล และการพิจารณาของ ป.ป.ช.ยังไม่เสร็จสิ้นดังนั้น จึงยังไม่ลงนาม ซึ่งก็คาดหวังว่า การพิจารณาของ ป.ป.ช.จะเสร็จสิ้นโดยเร็ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี